รู้ทันซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

      ในระยะหลัง ๆ นานาประเทศเริ่มมีการพูดถึง "คาร์บอนเครดิต" กันมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซต้นเหตุก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกจนมีผลให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น แต่ด้วยบางกิจกรรมที่ยังดำเนินการอยู่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ทำให้การมองหาคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนามีเพิ่มขึ้น

      ขณะที่ประเทศไทย แม้ไม่ถูกบังคับ หรือมีพันธกิจลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตโดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ในการดูแลวิเคราะห์ และให้ความเห็นเกี่ยวการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด พร้อมส่งเสริมการพัฒนาตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง และเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก

      ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจในไทย ซึ่งดำเนินการลงทุนเปิดกิจการ ห้างร้านหลากหลายสาขา สามาถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตคาร์บอนเครดิต กรณีที่มีความพร้อมในการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตได้ตั้งแต่ภาคการผลิตสินค้าและบริการ ก็สามารถร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER กับ ทาง อบก. หรือ หากไม่พร้อมก็สามารถอยู่ในฐานะผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ได้ เพื่อให้ได้สิทธิ์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่ไม่เกินกำหนด 


สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต มี 2 รูปแบบ คือ 

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย อบก. อยู่ระหว่างการทำความตกลงกับผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเพื่อเตรียมเปิดให้บริการต่อไป

2. การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter : OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อ และผู้ขายโดยตรงโดยไม่ผ่านตลาดซื้อขาย


      สำหรับความสำคัญของ “คาร์บอนเครดิต“  ทั้งฝั่งผู้ผลิต หรือ ผู้ขาย มีผลเกี่ยวเนื่องมาจากการที่ประชาคมโลกมีเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน อาทิ กลุ่มประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ก็มีการใช้มาตรการ European Green Deal ซึ่งจะมีการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เต็มรูปแบบในปี 2026  (พ.ศ. 2569) ซึ่งจะมีผลให้ราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องสะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้น ๆ หรือในทวีปเอเชียก็ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ เช่น โยบาย Green Plan ของประเทศสิงคโปร์ นโยบาย Green New Deal ของประเทศเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น 

แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อ : 18 เมษายน 2565
ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เบอร์โทรศัพท์ : +66 2141 9833


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,282,391