เปิดเกณฑ์การยื่นขอฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เจ้าของกิจการควรศึกษาเพื่อขยายช่องทางธุรกิจในไทย

การหันมาใช้ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อแสดงถึงการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำต่อหน่วยสินค้า หรือบริการ และยังช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้า หรือบริการ ตลอดจนการได้สิทธิประโยชน์ต่อสินค้าเนื่องจากได้รับการบรรจุเข้าสู่รายการวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือ TREES ที่มุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศสามารถเข้าถึงตลาดวัสดุก่อสร้างอาคารเขียวได้นั้น

โดยภาพรวมในประเทศไทย มีการออกฉลากคาร์บอน 8 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ 

  • ฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label) 
  • ฉลากอาคารลดคาร์บอน (Carbon Reduction Certification for Building) 
  • ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product Label) 
  • ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์  (Carbon Footprint Reduction Label) 
  • ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization Label) 
  • ฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset / Carbon Neutral Label) 
  • ฉลากคูลโหมด (Cool Mode Label) 
  • ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product Label)  

สำหรับเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือฉลากลดโลกร้อน มีดังนี้ 

1. ค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ ของผลิตภัณฑ์ลดลงจากเดิม (เปรียบเทียบกับค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ในปีฐาน) คือ ผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบัน เทียบกับข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ในปีฐานแล้วพบว่าค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 2

2. ค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่า หรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ หมายถึง ผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เมื่อนำมาเทียบกับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันพบว่า ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ


อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ และปัจจุบันไทยมีรายการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2565) โดยใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นเครื่องมือแสดงให้ผู้บริการโภครับทราบ พบว่า มีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์แล้ว 127 บริษัท คลอบคลุม 921 ผลิตภัณฑ์ อาทิ สินค้ากลุ่มก่อสร้าง, สินค้าใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 72,708,733 tonco2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) 

หากผู้ประกอบการสนใจ สามารถยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากลดคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ ได้กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ : http://thaicarbonlabel.tgo.or.th  หากผ่านการพิจารณาจะมีฉลากลดคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ อายุ 3 ปี นับตั้งแต่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภัย หลังจาก 3 ปีผู้ประกอบการต้องยื่นเอกสารเพื่อขอต่ออายุฉลากลดคาร์บอนล่วงหน้าภายใน 180 วัน ก่อนฉลากหมดอายุ 

ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เบอร์โทรศัพท์ : +66 2141 9833


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,297,124