ลงทุนฉลากลดคาร์บอนเพื่อการเติบโตของธุรกิจ

              จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีการกำหนดหมุดหมายที่ 10 ในแผนพัฒนาฉบับนี้ โดยให้ไทยมี “เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และการตั้งเป้าหมายนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ภายในปี 2570 รวมถึงตั้งเป้าให้
ปี 2570 ลดปริมาณขยะต่อหัวจากปี 2560 ลงได้ร้อยละ 10 นั้น เมื่อพิจารณาถึงกลไกที่จะมาขับเคลื่อน อีกหนึ่งเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ คือ การใช้ฉลากลดคาร์บอน ที่มีข้อดีต่อผู้บริโภคที่มีทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้า และบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับปรุงกระบวนการผลิต การได้มาซึ่งวัตถุดิบ และผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อย ขณะที่ผู้ผลิตก็สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท โดยเฉพาะเมื่อสินค้าที่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนแล้วจะเป็นทางใหม่ในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 

              สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก อาทิ กลุ่มประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป มีการใช้มาตรการ European Green Deal ซึ่งจะมีการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) เต็มรูปแบบในปี 2026  (พ.ศ. 2569) จะมีผลให้ราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องสะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้น ๆ หรือ ในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เริ่มออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ เช่น นโยบาย Green Plan ของประเทศสิงคโปร์ นโยบาย Green New Deal ของประเทศเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การหันมาลงทุนใช้ฉลากลดคาร์บอนนับเป็นทางเลือกที่ดีต่อผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการให้กิจการขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าทันกับกระแสโลกที่มุ่งสู่การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 


              ทั้งนี้ การขอขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทพิจารณากระบวนการผลิต ประเภทผู้รับจ้างผลิตสินค้า และประเภทกระบวนการในวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยมีค่าธรรมเนียมในอัตราต่างกันแล้วแต่ประเภท ซึ่งมีอัตราถูกที่สุดคือ 50,000 บาท และแพงที่สุดคือ 120,000 บาท ต่อชนิดผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
ผู้ประกอบการที่สนใจ ติดต่อได้ที่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือตรวจสอบรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ : www.tei.or.th

ที่มา: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
เบอร์โทรศัพท์: +66 2 288 3350


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,168