จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ด EV กำหนดนโยบาย “30@30” คือ การตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub)
เมื่อตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - ส.ค. 2565) มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการดังกล่าวแล้วรวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมกำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แบ่งเป็น
● กลุ่ม Hybrid Electric Vehicle (HEV) มากที่สุดถึง 440,955 คัน คิดเป็นมูลค่า 38,623.9 ล้านบาท
● กลุ่มผลิต Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ผลิตได้ 137,600 คัน คิดเป็นมูลค่า 11,665.6 ล้านบาท
● กลุ่มผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) ผลิตได้ 256,220 คัน มีมูลค่า 27,745.2 ล้านบาท
● กลุ่ม Battery Electric Bus ผลิตได้ 4,000 คัน มีมูลค่า 2,173.8 ล้านบาท
โดยการลงทุนของผู้ประกอบการจากข้อมูลข้างต้นเกิดจากนโยบายส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับมีการขยายผลให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตามมา เนื่องจากเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ในประเทศ และหากผู้ผลิตรถยนต์มีการผลิต หรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Management System(BMS), Drive Control Unit (DCU) และ Traction Motor ในประเทศเพิ่มเติมจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตามสิทธิประโยชน์ และเงื่อนไขที่นักลงทุนได้จากการประกอบธุรกิจผลิตรถอีวี อาทิ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก(Battery Electric Vehicles : BEV) แต่ให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ หากมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หรือขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และทั้งหมดนี้จะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ครบตามหลักเกณฑ์
ส่วนมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า ช่วงปี 2565 - 2568 มีดังนี้
1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000 - 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566
4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
ที่มา: สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
เบอร์โทรศัพท์:+668 6390 3339