คู่มือเดินทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส (Green Line)

คู่มือเดินทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส (Green Line)  

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (Green Line) หรือที่เรารู้จักและคุ้นเคยในชื่อ รถไฟฟ้าบีทีเอส (Sky Train) ปัจจุบันมีเส้นทางเดินรถ 2 เส้นทาง รวมระยะทางโดยประมาณ 68.25 กิโลเมตร จำนวนทั้งสิ้น 60 สถานี ดังนี้

สายสุขุมวิท ให้บริการจากเคหะสมุทรปราการ-คูคต
     เส้นทางเริ่มจากเคหะสมุทรปราการ มาตามถนนสุขุมวิท ผ่านแยกบางนา เรื่อยมาจนถึง ถนนเพลินจิต ถนนพระรามที่ 1 ถนนพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าสู่ถนนพหลโยธิน สนามเป้า สะพานควาย ผ่านจตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน แยกเกษตรศาสตร์ วงเวียนหลักสี่ สะพานใหม่ แยก คปอ.ไปถึงคูคต เป็นการเดินทางเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ และครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้สายสุขุมวิทมีระยะทาง รวมทั้งสิ้นประมาณ 54.25 กิโลเมตร มี 47 สถานี รวมสถานีร่วม (สถานีสยาม)

     เดินรถเที่ยวแรก ให้บริการในเวลา 5.15 น. ทั้งจากคูคต และเคหะสมุทรปราการ 

ความถี่ในการเดินรถ

จันทร์-ศุกร์ หากอยู่ในเวลาเร่งด่วน 2.40 นาที แต่หากเป็นเวลาปกติจะอยู่ที่ 3.35 นาที ไปจนถึง 8 นาที

เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ประมาณ 4.30 นาที ไปจนถึง 8 นาที


สายสีลม ให้บริการจากบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ
     
เส้นทางเริ่มจากแยกถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนเพชรเกษม ไปตามถนนราชพฤกษ์ ผ่านแยกถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนวุฒากาศ ผ่านแยกรัชดา-ตลาดพลู ผ่านแยกตากสิน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานตากสิน ไปตามถนนสาทร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนช่องนนทรี ผ่านถนนสีลม สวนลุมพินี ถนนราชดำริ และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 1 ไปสิ้นสุดที่บริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สายสีลมมีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 14 กิโลเมตร มี 14 สถานี รวมสถานีร่วม (สถานีสยาม) และสถานีเซนต์หลุยส์

     เดินรถเที่ยวแรก ให้บริการในเวลา 5.30 น. ทั้งจากสนามกีฬาแห่งชาติ และบางหว้า

ความถี่ในการเดินรถ

จันทร์-ศุกร์ หากอยู่ในเวลาเร่งด่วน 3.45 น. แต่หากเป็นเวลาปกติ 6 นาที

เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ประมาณ 5.40 น. ไปจนถึง 8 นาที

     โดยทั้ง 2 สาย เริ่มให้บริการห้องจำหน่ายบัตร ตั้งแต่เวลา 6.00-24.00 น.

อัตราค่าโดยสาร 

สายสุขุมวิท  เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 62 บาท

สายสีลม  เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 47 บาท

รถไฟฟ้า BTS ยังเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายอื่น ดังนี้

  • BTS สถานีหมอชิต เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีจตุจักร
  • BTS สถานีห้าแยกลาดพร้าว เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีพหลโยธิน
  • BTS สถานีอโศก เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีสุขุมวิท
  • BTS สถานีศาลาแดง เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีสีลม
  • BTS สถานีบางหว้า เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีบางหว้า
  • BTS สถานีพญาไท เชื่อมต่อรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่สถานีพญาไท

     และอนาคต จากการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,297,478