รู้จักรถไฟฟ้าสายสีส้ม (Orange Line)

รู้จักรถไฟฟ้าสายสีส้ม (Orange Line)

     โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี)  หรือ Metropolitan Rapid Transit Orange Line  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมือง ตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ของกรุงเทพมหานคร แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือ เส้นทางตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเส้นทางตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางกะปิ - มีนบุรี

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  เป็นระบบรถไฟฟ้าชนิดรางหนัก (Heavy Rail Transit) โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22.57 กิโลเมตร  เส้นทางการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีส้มประกอบไปด้วยสถานีใต้ดินจำนวน 10 สถานี และสถานียกระดับจำนวนอีก 7 สถานี  โดยมีแนวเส้นทางเดินรถ ดังนี้     

  • เริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) 
  • ผ่านถนนพระราม 9, ถนนรามคำแหง  ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ 
  • วิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์บริเวณแยกมีนบุรี

     ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความคืบหน้าในการก่อสร้างอยู่ที่ 98.65% (สิ้นเดือนธันวาคม 2565) โดยอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี  โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานี ขึ้นไป  ซึ่งเป็นอัตราดังกล่าวเป็นค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม.

     ทั้งนี้ทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ  จึงได้มีนโยบายที่จะลดเพดานค่าโดยสารเหลือ 15-45 บาท  ซึ่งจะคิดค่าโดยสารเฉลี่ย 2.5 บาท/สถานี

     ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีระยะทางทั้งสิ้น 13.49 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินทั้งหมด มีสถานีใต้ดิน 11 มีแนวเส้นทางตามแนวเดินรถ ดังนี้

  • เริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช 
  • จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  เบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช 
  • เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ  เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง เลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง
  • จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2  เบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ทะลุออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ด้วยการลอดใต้ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษก 
  • เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอีกครั้ง ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

     ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก อยู่ระหว่างการร่างสัญญาการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ ซึ่งวางเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2570

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,051