สถานีกลาง "กรุงเทพอภิวัฒน์” ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางของไทย

สถานีกลาง "กรุงเทพอภิวัฒน์" ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางของไทย

     หากพูดถึงการเดินทางในกรุงเทพและปริมณฑล ระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นระบบรถโดยสารสาธารณะ หรือแม้แต่การใช้บริการรถไฟและรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาการให้บริการ และขยายเส้นทางรองรับการให้บริการประชาชนที่เชื่อมต่อจากชานเมืองสู่ในเมืองมากขึ้น

     “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หรือเดิมถูกเรียกว่า “สถานีกลางบางซื่อ” จะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานีรถไฟหลัก สำหรับการให้บริการขบวนรถไฟระยะไกล ทดแทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แล้ว ยังรองรับการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และในอนาคตยังรองรับการให้บริการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)

     สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  ได้เริ่มเปิดให้บริการในปี 2564 พร้อมการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) และตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดใช้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  เป็นสถานีหลักเพื่อให้บริการรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ 52 ขบวน เปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง แทนที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ดังนี้

สายเหนือ 14 ขบวน

     ขบวนที่ 7, 8, 9, 10, 13, 14, 51, 52, 102, 107, 108, 109, 111, 112

สายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน

     ขบวนที่ 21, 22, 23, 24, 25, 26, 71, 72, 75, 76, 133, 134, 135, 136, 139, 140, 141, 142

สายใต้ 20 ขบวน

     ขบวนที่ 31, 32, 37, 38, 39, 40, 43, 44, 45, 46, 83, 84, 85, 86, 167, 168, 169, 170, 171, 172

     สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน ด้วยขนาดพื้นที่รวม 2,475 ไร่ (รวมพื้นที่โดยรอบ) มี 24 ชานชาลา แบ่งเป็น รองรับรถไฟชานเมือง 4 ชานชาลา, รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา, รถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา และสำหรับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีก 2 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารทั้งหมดประมาณ 624,000 คน ต่อวัน (ปี 2575)

     นอกจากนี้ ยังเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นได้อีก เช่น อยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต)  ใกล้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง เพียง 1 กิโลเมตร ส่วนภายในสถานีสามารถเชื่อมต่อเส้นทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,292,142