4 สถาปัตยกรรมรถไฟฟ้า MRT สวยที่สุดในประเทศไทย

4 สถาปัตยกรรมรถไฟฟ้า MRT สวยที่สุดในประเทศไทย

     การเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากความสวยงามของธรรมชาติในแต่ละจังหวัดแล้ว ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว

     ขณะที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการเดินทาง โดยไม่ต้องวุ่นวายกับปัญหาการจราจรแล้ว ยังพบความสวยงามของสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟฟ้า MRTโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์

     วันนี้จะพามารู้จัก 4 สถาปัตยกรรมรถไฟฟ้า MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่สวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกลางเมืองกรุงเทพ

1. สถานีวัดมังกร ตั้งอยู่บริเวณ ถนนเจริญกรุงตัดกับ ถนนพลับพลาไชย และถนนแปลงนามที่แยกแปลงนาม ภายในสถานีมีการตกแต่งให้มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบสถานี มีการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีน และสถาปัตยกรรมยุโรป ที่สะท้อนถึงชุมชนชาวจีนในย่านเยาวราช เอกลักษณ์อันโดดเด่นของการตกแต่งภายในสถานีแห่งนี้ คือ รูปมังกร และดอกบัว ที่ตกแต่งตั้งแต่ผนัง ทางเดิน ไปจนถึงเพดาน ตามชื่อ วัดมังกรกมลาวาส 

2. สถานีสามยอด เป็นสถานีใต้ดิน ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ใกล้กับสี่แยกสามยอด ภายในสถานีมีการตกแต่งจะมีความสวยงามของโครงสร้างอาคาร ซึ่งออกแบบโดยคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ควบคู่กับสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส หรือชิโนโปรตุกีส ด้วยการสร้างอาคารทางเข้าสถานีจำนวนสามหลัง 

     โดยทั้งสามหลังได้รับการออกแบบให้มีความโอ่โถง และโปร่งโล่ง เพื่อเปิดรับลมจากภายนอกอย่างเต็มที่ บริเวณทางเข้าสถานี และผนังโดยรอบได้มีการขึ้นปูนเป็นประตูบานเฟี้ยม ซึ่งเป็นรูปแบบของประตูในสมัยเก่ามาปรับใช้ ส่วนบริเวณเสาสถานีและพื้นที่จำหน่ายบัตรโดยสารได้มีการนำรูปทรง และลักษณะของซุ้มประตูสามยอดมาตกแต่งเพื่อสื่อถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และภายในสถานียังได้มีการติดรูปภาพสมัยเก่าเพื่อเล่าเรื่องถึงประวัติศาสตร์ และที่มาของพื้นที่ให้ผู้โดยสารได้รับทราบและรับรู้

     สถานีนี้ยังมีเอกลักษณ์ตรงที่มีชั้นออกบัตรโดยสารอยู่ชั้นพื้นถนน เมื่อผู้โดยสารเดินเข้าไปภายในสถานีก็จะพบกับเครื่องออกตั๋วโดยสารอัตโนมัติ และห้องออกบัตรโดยสารทันที โดยไม่ต้องลงไป อีก 1 ชั้นเหมือนกับสถานีอื่นๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของสถานีสามยอด

3. สถานีสนามไชย “ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์” ตั้งอยู่ด้านล่างของถนนสนามไชย ใกล้กับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, โรงเรียนวัดราชบพิธ, มิวเซียมสยาม ภายในสถานีมีจุดเด่น คือ ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับการออกแบบโดย รศ.ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ

     นอกจากนี้สถานีสนามไชย ยังมีนิทรรศการใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย หรือ Site Museum  ตั้งอยู่ภายในสถานี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่รอบบริเวณสถานีสนามไชยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เป็นแหล่งให้ความรู้กับคนไท ยและนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางสัญจรผ่านไปมายังเส้นทางนั้น

4. สถานีอิสรภาพ เป็นสถานีใต้ดินสถานีแรกและสถานีเดียวที่ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี และยังเป็นสถานีใต้ดินสถานีสุดท้ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก่อนที่ทางวิ่งของรถไฟฟ้าจะยกระดับขึ้นสู่สถานีท่าพระ การออกแบบภายในสถานี มีการนำรูปหงส์ ที่เป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาปรับใช้ในการออกแบบ เพื่อสื่อให้เห็น ถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่และสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งวัดหงส์รัตนาราม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีอิสรภาพ สามารถเดินทางไปที่วัดได้โดยออกจากสถานีอิสรภาพ ทางออกที่ 1 และ 2 เพียง 600 เมตร

     และรู้หรือไม่ว่า เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จาก “สถานีสนามไชย” ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของ “ฝั่งพระนคร” เชื่อมต่อไปยัง “สถานีอิสรภาพ” ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินแห่งแรกของ “ฝั่งธนบุรี” รถไฟฟ้าจะต้องวิ่งในอุโมงค์ลอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีช่วงที่ลึกที่สุดถึง 38 เมตร ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร  


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,807