การนำเข้า ส่งออก โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วน (express consignment)

     ในปัจจุบันผู้ให้บริการในการขนส่งสินค้านำเข้าหรือส่งออกจากต่างประเทศไม่ได้มีเพียงเฉพาะบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพียงเท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของผู้ประกอบการของเร่งด่วน (express consignment) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้สามารถจดทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเข้ามาใน หรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเป็นการให้บริการกับผู้รับฝากแบบ ประตูถึงประตู (DOOR TO DOOR) และต้องดำเนินพิธีการศุลกากรตามที่กรมศุลกากรกำหนดแทนผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการของเร่งด่วน ได้แก่ Fed Ex, UPS, DHL, TNT

ของเร่งด่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สามารถจัดแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 เป็นเอกสาร
     • เป็นของที่ไม่ต้องเสียอากร โดยไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
     • ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 2 ได้แก่ของดังต่อไปนี้
     • ของที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
     • ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาซีไอเอฟไม่เกิน 1,500 บาท ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
     • ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า ตามประเภท 14 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด

- เป็นของไม่ต้องเสียอากร หรือของที่ได้รับยกเว้นอากร
- ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และเมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 3 เป็นของที่จัดเข้าตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยแต่ละรายใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (House Air Waybill) มีราคา FOB (Free On Board) ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามของต้องกำกัด หรือของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
     • เป็นของต้องเสียอากร
     • ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะเป็นผู้ชำระภาษีอากรตามพิกัดอัตราศุลกากรแทนผู้นำของเข้า เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปส่งให้ผู้นำเข้า

ประเภทที่ 4 ของอื่น ๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3
     • เป็นของต้องเสียอากร หรือของต้องกำกัด หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างก่อนปล่อย
     • ผู้นำของเข้าเป็นผู้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าในระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ และผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนนำของออกไปจากอารักขาศุลกากร

หมายเหตุ
ค่าขนส่งของที่ใช้กำหนดราคาศุลกากรในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับของเร่งด่วน ให้ปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้
1. ใช้ค่าขนส่งตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้า หรือหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของดังกล่าว
2. กรณีบัญชีราคาสินค้าไม่มีค่าขนส่งของ หรือไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของ ให้ใช้อัตราค่าระวางบรรทุกทางอากาศยานเฉลี่ยตาม Zone ที่กรมศุลกากรประกาศให้ใช้สำหรับของเร่งด่วน  

ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 

ที่มา : กรมศุลกากร 

โทร. 1164 หรือ 0 2667 6107 ต่อ 8


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,293,188