วิธีปฏิบัติสำหรับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทางไปรษณีย์

      โลกออนไลน์ในปัจจุบันทำให้การติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การซื้อขายสินค้าสามารถทำได้ในทั่วทุกมุมโลก นับเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยการใช้บริการของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้

1. กรณีที่ไม่ต้องทำใบขนสินค้าขาออก ให้กระทำได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งตามระเบียบข้อบังคับของ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้แก่ การส่งของดังต่อไปนี้

- ไม่เป็นของต้องห้ามในการส่งออก
- ไม่เป็นของต้องกำกัดในการส่งออก
- ไม่เป็นของต้องเสียอากร หรือค่าภาคหลวงในการส่งออก
- การส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งไปถึงผู้รับคนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่ห่อ มีราคารวมกันคราวหนึ่งไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับของทั่วไป หรือไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับเพชรพลอย เครื่องรูปพรรณทองคำ และเครื่องรูปพรรณทองคำขาว
- มิใช่การส่งออกที่ขอคืนอากร หรือขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร
- มิใช่การส่งออกที่ขอใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา

2. กรณีไม่เป็นไปตามข้อ 1. ผู้ส่งออกต้องจัดทำใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

- ผู้ส่งออก ลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากร ที่ฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ (กรณีที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน)
- ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกทางอิเล็กทรอนิกส์และใบกำกับการขนย้าย (โดยสามารถใช้บริการได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส) ชำระภาษีอากร (ถ้ามี) และนำของมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จากนั้นจึงนำของส่งออกไปฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ นำหลักฐานการส่งออก แจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อรับรองการส่งออก

      สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร 111 ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10020 โทรศัพท์ 0 2575 1002 ต่อ 3 

ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ที่มา : กรมศุลกากร
โทร. 1164 หรือ 0 2667 6107 ต่อ 8


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,321