การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัย

     เมื่อเราต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย อันตราย เจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้ายจากการเป็นพลเมืองดี หรือช่วยเหลืองานของทางราชการ มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือหรือเงินสงเคราะห์ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์ ดังนี้  

     - กรณีสูญเสียอวัยวะ เป็นเงินชดเชย และหากเข้ารับการรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์ จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในระหว่างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในอัตราต่อวัน
     - กรณีพิการทุพพลภาพขนาดหนัก นอกจากจะได้รับเงินชดเชยแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินดำรงชีพเป็นรายเดือน รวมถึงมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
     - หากถึงแก่ความตาย ทายาท ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา คู่สมรส และบุตร มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลก่อนตาย เงินชดเชย และเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพด้วย

     อันตรายที่ได้รับต้องไม่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือความผิดของตนเอง การขอรับเงินสงเคราะห์ ต้องกระทำภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิได้ทราบถึงสิทธิของตน สามารถขอรับแบบคำขอรับเงินสงเคราะห์ ได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ที่ทำการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ และที่กรมบัญชีกลาง 

สำหรับหลักฐานที่ต้องใช้หลัก ได้แก่

  • แบบคำขอรับเงินสงเคราะห์
  • คำสั่งในการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือ การปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม 
  • รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง 
  • คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด 
  • ใบรับรองแพทย์ที่ทางราชการรับรอง 
  • บัตรประจำตัวประชาชน 
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.14) 
  • หลักฐานเกี่ยวกับการตาย และอื่น ๆ  


   ขอคำปรึกษา ได้ที่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกองบริหารการเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จบำนาญ กรมบัญชีกลาง

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,285,568