การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

      เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพคนชรา คือ เงินช่วยเหลือที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และทุก ๆ ปี จะเปิดให้ผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ ที่มีสิทธิ เข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเงิน ซึ่งการลงทะเบียนไม่จำเป็นต้องลงใหม่ทุกปี เพราะลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิตลอดไป โดยมีคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน ดังนี้  

     1. มีสัญชาติไทย  
     2. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน  
     3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  
     4. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ โดยบุคคลดังที่กล่าวมาไม่รวมถึงผู้พิการ หรือผู้ป่วยเอดส์ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 หรือผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติคณะรัฐมนตรี

เอกสารประกอบการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้

     1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ
     2. ทะเบียนบ้านฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ
     3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (กรณีที่ผู้ขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร) ฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ
     4. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน) ฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ
     5. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่ายของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน) ฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ
     6. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคารของผู้รับมอบอำนาจ) ฉบับจริง จำนวน 1 ฉบับ

หากตรวจสอบหลักเกณฑ์ครบถ้วนแล้ว สามารถดำเนินการโดยนำเอกสารไปยื่นได้ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ทั้งเทศบาล หรือ อบต.

ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
โทร. 0 2612 6060


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,386