หลักเกณฑ์และเอกสารประกอบเมื่อนายจ้างขออนุญาตส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศเกิน 45 วัน

     การได้มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศนับเป็นโอกาสที่ดีของใครหลายคน ซึ่งการไปทำงานในต่างประเทศต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของกฎหมาย ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายมีด้วยกันทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 

  1. บริษัทจัดหางานจัดส่ง 
  2. กรมการจัดหางานจัดส่ง 
  3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 
  4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน 
  5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

ซึ่งในส่วนของการที่ “นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน” จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ  ดังนี้

  1. นายจ้างซึ่งประสงค์จะส่งลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการตามวัตถุประสงค์ของนายจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ  เกิน 45 วัน โดยลูกจ้างได้รับเงินหรือประโยชน์ที่พึงจะได้รับในต่างประเทศ ต่ำกว่าอัตราและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด หรือส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ ไม่เกิน 45 วัน ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายก่อน
  2. การส่งลูกจ้างไปฝึกงานดังกล่าวจะเรียกเก็บเงินหรือประโยชน์อื่นใดมิได้
  3. นายจ้างซึ่งส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศต้องรับผิดชอบในการเดินทางกลับมาในราชอาณาจักรของลูกจ้าง 

โดยนายจ้างต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. คำขออนุญาตส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ (แบบ จง. 44) ซึ่งกรอกข้อความให้ครบถ้วน
  2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัท (รับรองไม่เกิน 6 เดือน) 
  3. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (รับรองไม่เกิน 6 เดือน)
  4. ใบอนุญาตประกอบกิจการ (ถ้ามี) 
  5. หนังสือเชิญฝึกงานจากต่างประเทศ หรือข้อตกลงของบริษัทในต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดส่งลูกจ้างไปฝึกงาน หากเอกสารดังกล่าวหากเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นไทยด้วย
  6. เอกสารหลักสูตรการฝึกงานในต่างประเทศ 
  7. หลักฐานแสดงว่าลูกจ้างเป็นลูกจ้างของบริษัท เช่น ภงด.1 (ย้อนหลัง 6 เดือน) หรือหลักฐาน การเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมหรือบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคม
  8. หลักฐานแสดงการอนุญาตให้นำผู้ฝึกงานเข้าประเทศ เช่น วีซ่า, เอ็น.โอ.ซี ฯลฯ
  9. สัญญาฝึกงาน ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนไข ดังนี้ ระยะเวลาการฝึกงาน, สวัสดิการอาหาร ที่พัก, ค่าโดยสารเครื่องบิน, ค่ารักษาพยาบาล, อัตราเบี้ยเลี้ยง, การจ่ายค่าจ้างในประเทศไทย นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างที่ไปฝึกงานเต็มตามเงินเดือนที่ได้รับโดยนายจ้างโอนเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างในประเทศไทย (ฉบับจริง 4 ฉบับ)
  10. บัญชีรายชื่อลูกจ้างนายจ้างจะส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ ระบุตำแหน่ง/สาขาที่ไปฝึกงาน
  11. บัญชีรายชื่อลูกจ้างที่ได้รับอนุญาตให้ส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ (ฉบับจริง 4 ชุด)
  12. ในกรณีที่นายจ้างไม่มาติดต่อเอง ต้องทำหนังสือมอบอำนาจ ของนายจ้างมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมายื่นและติดต่อเรื่อง กรณีนายจ้างไม่มายื่นเอง (ติดอากรแสตมป์ 30 บาท) พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบ 1 ฉบับ ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมายื่นคำขอ
         ซึ่งผู้ยื่นคำขอต้องทำสำเนาหลักฐานทุกฉบับ และให้นำเอกสารฉบับจริงมาแสดงในวันที่ยื่นคำขอ

     ส่วนนายจ้าง หรือผู้รับมอบอำนาจลงนามในเอกสารหลักฐานประกอบทุกฉบับ พร้อมประทับตราบริษัท  (ถ้ามี)

     ขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือจะเริ่มนับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคู่มือบริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ในกรณีที่คำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน และ/หรือมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุไม่สามารถพิจารณาได้ เจ้าหน้าที่จะจัดทำบันทึกความบกพร่องของรายการเอกสาร หรือเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติม โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไข และ/หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนดในบันทึกดังกล่าว มิเช่นนั้นจะถือว่าผู้ยื่นคำขอละทิ้งคำขอโดยเจ้าหน้าที่และผู้ยื่นคำขอหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจลงนามบันทึกดังกล่าว และจะมอบสำเนาบันทึกความบกพร่องดังกล่าวให้  ผู้ยื่นคำขอหรือผู้ได้รับมอบอำนาจไว้เป็นหลักฐาน

     โดยจะมีค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอ 10 บาท และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ


ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566 

แหล่งที่มา : กระทรวงแรงงาน

เบอร์ติดต่อ : 0 2232 1162


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,290,016