สารสกัดกัญชง กัญชา คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ควรรู้

     กัญชง กัญชา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเสริมการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่จะต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้กัญชาทางการแพทย์ ดังนี้


1. ผู้มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (Chemotherapy Induced Nausea and Vomiting) 

2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (Intractable Epilepsy) 

3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) 

4. ภาวะปวดประสาท (Neuropathic Pain) 

5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 

6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

     หลังจากนั้น ทาง Care Manager จะประเมินและคัดกรองผู้ป่วยตามข้อบ่งใช้ และข้อจำกัดการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อประสานงานระหว่างคลินิกกับแพทย์ เจ้าของไข้ หากพบว่าผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ เช่น แพ้ มีอาการรุนแรง มีอาการทางจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน ทาง Care Manager จะประเมินความเหมาะสมของการใช้สารสกัดจากกัญชา โดยการคัดกรองความเสี่ยงและตรวจร่างกาย ว่าเข้าข่าย อาการจิตเวช โรคประจำตัว และมียาที่ใช้แล้วมีปฏิกิริยาต่อกัญชาหรือไม่

     ก่อนจะวินิจฉัย สั่งจ่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย (แต่ละครั้งไม่เกินปริมาณที่ใช้สำหรับ 30 วัน) และให้คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณยาที่ใช้ และปรับขนาดยาอย่างเหมาะสมที่สุด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลในการรักษาโรคที่ดีและลดอาการ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ให้เหลือน้อยที่สุด 


สำหรับการติดตาม และประเมินผลผู้ป่วยทุกราย  

1. ติดตาม และประเมินผลข้างเคียงหลังรับยาภายใน 3 วัน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือระบบออนไลน์ 

2. ติดตามประเมินผลลัพธ์ และผลข้างเคียงการรักษาและ F/U ภายใน 1 เดือน ที่คลินิกกัญชาฯ และบันทึกผลการประเมินทุกครั้ง 

3. หากพบว่าใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่มีประสิทธิผล ไม่ได้ประโยชน์ตามที่มุ่งหวังภายใน 4-12 สัปดาห์ ให้หยุดการรักษาด้วยกัญชา โดยค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลง

     กรณีเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ให้ลดหรือหยุดใช้สารสกัดกัญชา และพบแพทย์เพื่อรักษา หรือพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในกรณีที่จำเป็น และต้องรายงานภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

     กรณีไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการไม่พึงประสงค์ ให้ปรับลดขนาดยาหรือยุติการสั่งจ่ายสารสกัดกัญชา หากสิ้นสุดการรักษาให้แจ้งองค์การอาหารและยา (อย.) ทราบภายใน 30 วัน และให้ผู้ดูแลผู้ป่วยส่งคืนกัญชาทางการแพทย์ ที่เหลืออยู่แก่สถานพยาบาล เพื่อพิจารณาดำเนินการทำลายหรือใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยรายต่อไป


ที่มา : www.mhso.dmh.go.th

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,886