หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

       ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว เดิมทีอาคารของหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี 2482-2491 ก่อนจะถูกนำมาปรับปรุงเป็นห้องสมุดสำหรับประชาชน เนื่องจากกรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี 2556 (World Book Captital) จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นลำดับที่ 13 ต่อจากกรุงเยราวาน อาร์เมเนีย ซึ่งพันธกิจหนึ่งที่สำคัญที่เสนอไว้ คือ โครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร 

       หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ดังนั้นภายในจึงไม่ได้มีแต่ชั้นหนังสือเหมือนห้องสมุดของรัฐบาลที่เราคุ้นเคย แต่ยังมีพื้นที่สำหรับให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม มีพื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียนทุกชั้น ส่วนพื้นที่ให้บริการแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ตามรูปแบบของการใช้งาน

       ชั้นที่ 1 : พื้นที่ด้านล่างสุดเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ และนิตยสาร หนังสือในโซนของพื้นที่ชั้นหนึ่ง จะเน้นหนังสือท่องเที่ยว หนังสืออาหาร หนังสือเพื่อสุขภาพ ส่วนนิตยสารจะมีโซนแบ่งออกไว้ต่างหากชัดเจน แต่ละสัปดาห์จะมีการอัปเดตนิตยสารใหม่ ๆ เสมอ สำหรับผู้พิการทางสายตาจะมีโซนอ่านหนังสือเสียงแยกไปต่างหากเพื่อความคล่องตัวของผู้พิการทางสายตา และมีห้องฉายวิดีโอ ขนาดเล็กความจุไม่เกิน 40 คนให้บริการอยู่ด้วย มีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี แต่ต้องขอรหัสที่ประชาสัมพันธ์ก่อน

       ชั้น M : ชั้นนี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ หนังสือทั้งโซนเต็มไปด้วยหนังสือที่เหมาะกับเด็กทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ และยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมของเด็กต่างหากแยกออกมาด้วยในกรณีที่ผู้ปกครองพาลูกหลานมาแล้วอยากให้พวกเขาอ่านหนังสือเงียบ ๆ หรือเล่นสนุกโดยที่ไม่รบกวนคนอื่น

       ชั้น 2 : สำหรับชั้นนี้มีหนังสือที่หลากหลายแนว และแตกต่างว่าชั้นหนึ่งชัดเจน คือมีหนังสือเยอะมากกว่าชั้นแรกโซนพื้นที่ให้บริการแบ่งตามลักษณะของหนังสือเป็นโซน ได้แก่โซนหนังสือดังในอาเซียน, โซนหนังสือเกี่ยวกับเมืองหลวงต่าง ๆ ของโลก รวมถึงประเทศไทย, โซนหนังสือหายาก, โซนนวนิยาย เรื่องสั้น,โซนหนังสืองานศพ (หนังสืองานศพเป็นหนังสือที่มีคุณค่า และพิมพ์แค่ครั้งเดียว) โซนหนังสือร่วมสมัยที่มีทั้งบทความ ความเรียง หรือหนังสือภาพ และโซนสุดท้ายคือหนังสือต่างประเทศ

       ชั้น 3 : พื้นที่นี้เป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และยังมีโซนหนังสือเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ที่น่าสนใจ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติ, หนังสือโครงการในพระราชดำริ, หนังสือพระบรมวงศานุวงศ์, หนังสือราชวงศ์จักรี และหนังสือประวัติศาสตร์ที่สำคัญของราชวงศ์จักรี

       อีกโซนจะเป็นหนังสือสำคัญที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ รวมถึงหนังสือของหน่วยงานอื่นในกรุงเทพฯ ที่พิมพ์ขึ้นมาเฉพาะกิจ นอกจากโซนหนังสือแล้ว ยังมีห้อง ‘จดหมายเหตุ’ ที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อไว้อาลัยแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดแสดงอยู่ 

       ผู้ที่จะเข้าใช้บริการขอแค่เพียงมีบัตรประชาชนหนึ่งใบก็สามารถใช้บริการได้ทันที ไม่คิดเงิน ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีที่ยังไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ ผู้ปกครองจะต้องเป็นคนพามา การเข้าใช้บริการก็เพียงแค่สอดบัตรประชาชนเพื่อสแกนที่ประตูเท่านั้น ส่วนชาวต่างชาติ ต้องแสดงพาสปอร์ตเพื่อเข้าใช้บริการ

ข้อมูลการสมัครสมาชิก

1. ยื่นใบสมัครสมาชิกที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

2. สำเนาเอกสารประกอบการสมัครอย่างใดอย่างหนึ่ง

- บัตรประจำตัวประชาชน

- บัตรประจำตัวข้าราชการ

- บัตรประจำตัวนักศึกษา

- หนังสือรับรองจากสถานศึกษา

- หนังสือเดินทาง (Passport)

3. เงินค่าสมาชิก

- อายุไม่เกิน 15 ปี ปีละ 5 บาท เงินค่าประกัน 20 บาทต่อคน

- อายุเกิน 15 ปี ปีละ 10 บาท เงินค่าประกันหนังสือ 40 บาทต่อคน

การเดินทางมายังหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

1. การเดินทางโดยรถยนต์และทางด่วนพิเศษ
       หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ถนนราชดำเนินกลาง สามารถใช้เส้นทางด่วนไปลง “ด่านยมราช” หรือขึ้นเส้นทางด่วนสุริวงศ์ไปลง “ด่านอุรุพงศ์” ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศมายังถนนราชดำเนินกลาง อาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพจะตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว

2. เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ

  • จุดเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้า-เรือ

- สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อโศก สามารถเชื่อมต่อเรือโดยสารคลองแสนแสบท่าอโศก

- สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี สามารถเชื่อมต่อเรือโดยสารคลองแสนแสบท่าสะพานหัวช้าง

  • รถโดยสารประจำทาง
    สาย 2, 9, 15, 32, 35, 42, 44, 47, 59, 60, 68, 70, 79, 82, 124, 127, 171, 183, 203
  • รถโดยสารปรับอากาศ
    สาย ปอ.60, ปอ.127, ปอ.157, ปอ.503, ปอ.509, ปอ.511, ปอ.516, ปอ.556

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,282,469