4 อุทยานดาราศาสตร์ หอดูดาวในประเทศไทย ใน 4 ภูมิภาค หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

      สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาดาราศาสตร์จึงจัดตั้งหอดูดาวในส่วนภูมิภาคขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า และทำวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ไปยังหน่วยงานการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านดาราศาสตร์ที่ถูกต้อง สามารถนำไปประยุคใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้

      หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา เป็นหอดูดาวสำหรับประชาชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบส่วนภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้บริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียง สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา และการค้นคว้าวิจัยระดับพื้นฐาน นับได้ว่าเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค

      หอดูดาวแห่งนี้ มีส่วนที่น่าสนใจคือ อาคารนิทรรศการ : ภายในอาคารมีการจัดแสดง 14 ฐานนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ มุ่งเน้นการเรียนรู้นิทรรศการผ่านประสบการณ์ของผู้เข้าชม ตัวอาคารเชื่อมต่อไปยังส่วนฉายดาว ประกอบด้วยนิทรรศการดาราศาสตร์แบบหมุนเวียน ที่จัดแสดงเรื่องดาราศาสตร์ที่ใกล้ตัวและน่าสนใจ ด้านในสุดของอาคารคือส่วนฉายดาว ติดตั้งโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร พร้อมเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียดมากกว่า 12 ล้านพิกเซล

      อาคารหอดูดาว : บริเวณด้านหน้าอาคารเป็นลานเปิดโล่ง ใช้สำหรับตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือเป็นลานสำหรับรองรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ที่มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก  

      ส่วนชั้นที่ 2 ของอาคารติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ความละเอียดสูง จำนวน 5 ตัว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 นิ้ว ถึง 14 นิ้ว ด้านข้างเป็นลานโล่ง สำหรับรองรับผู้เข้าชมที่ขึ้นมาสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้านบน ความจุประมาณ 200 คน 

      อีกด้านหนึ่งของอาคารหอดูดาวเป็นโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และเป็นอันดับสามของประเทศ ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงทันสมัยที่สุดอีกแห่งในไทยที่ใช้สำหรับบริการประชาชนเป็นหลัก โดยสามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจได้หลากหลาย เช่น ดาวพฤหัสบดี (ดาวเคราะห์ใหญ่อันดับหนึ่งในระบบสุริยะ) ดาวเสาร์ (ดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนใหญ่และสวยงามที่สุดในระบบสุริยะ) กาแล็กซี่แอนโครเมดา (กาแล็กซี่อื่นที่ใกล้กาแล็กซี่ทางช้างเผือกมากที่สุด) เนบิวลานายพราน (เนบิวลาสว่างใหญ่) 

      การให้บริการของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนักและความเข้าใจดาราศาสตร์สู่ประชาชนในภูมิภาค โดยมีทั้งการจัดกิจกรรมดูดาวสังเกตวัตถุท้องฟ้า การบรรยายเชิงวิชาการ การจัดกิจกรรมฐานดาราศาสตร์ รวมถึงให้คำปรึกษาให้บริการอุปกรณ์ในการทำโครงงาน หรือการวิจัยทางดาราศาสตร์ เปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. ส่วนกิจกรรมเปิดกล้องดูดาวจะมีในวันเสาร์ เวลา 18.00-20.00 น.

      การให้บริการท้องฟ้าจำลอง มีทั้งรอบฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์และรอบบรรยายสด โดยเจ้าหน้าที่รอบบรรยายสดอรรถรสในการรับชมจะแตกต่างกันออกไปตามเอกลักษณ์ ลูกเล่นของเจ้าหน้าที่ผู้บรรยาย และถือเป็นจุดดึงดูดความสนใจผู้เข้าชมของที่นี่ โดยเปิดบริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ วันละ 2 รอบ 11.00 น. และ 15.00 น. รอบละ 1 ชั่วโมง แต่ในวันเสาร์จะมีรอบพิเศษเวลา 17.00 น. เพิ่มอีก 1 รอบ

      นอกจากนี้ยังเปิดรอบจองเป็นหมู่คณะ สำหรับโรงเรียน สมาคม ชมรม ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ในวันและเวลาราชการ

ผู้ที่สนใจเข้าชมและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา : ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์ : 0 4421 6254
FB : www.facebook.com/ropnma

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,291,768