หอประวัติไทลื้อ วัดพระธาตุสบแวน จังหวัดพะเยา
นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ มองหาสถานที่ท่องเที่ยว ในรูปแบบท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ในจังหวัดพะเยา หอประวัติไทลื้อ วัดพระธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นเมืองที่เงียบสงบ ผู้คนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสวยงามของธรรมชาติ และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย นอกจากจะได้ไหว้พระเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด คือ การเยี่ยมชม “ศาลาหอประวัติไทลื้อ” (ศาลา 13 ห้อง) ที่ตั้งอยู่ข้างพระวิหารในวัดพระธาตุสบแวน ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากดินแดนสิบสองปันนา หรือในปัจจุบัน คือ ประเทศจีนตอนใต้มาอยู่ที่ประเทศไทย โดยมีการสอดแทรกวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ถ่ายทอดผ่านจิตรกรรมที่สวยงาม อนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
หอประวัติไทลื้อ มีการรวบรวมภาพวาดทั้งหมด 13 ภาพ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ภาพที่ 1. เจ้อเคอเมิงโหย่น หรือ เชื้อเครือเมืองหย่วน เล่าเรื่องเมืองหย่วน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบรรพบุรุษไทลื้อ ภาพที่ 2. สิบสองปันนา หรือ สิบสองพันนา เล่าเรื่องการเมืองการปกครองในดินแดนสิบสองพันนา ภาพที่ 3. บ้านลู้เมิงวาย หรือ บ้านเมืองวอดวาย เล่าเรื่องความวุ่นวายจากศึกสงครามในแผ่นดินสิบสองพันนา ภาพที่ 4. หว่ายหน้าข้ามของ หรือ บ่ายหน้าข้ามโขง เล่าเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2348 ภาพที่ 5. บ้านหงาวเจงโม่น หรือ บ้านหงาวเชียงม่วน เป็นเรื่องการตั้งรกรากครั้งแรกบนแผ่นดินล้านนาที่เชียงม่วน
ภาพที่ 6. บ้านโหย่นเจงคำ หรือ บ้านหงาวเชียงม่วน เล่าเรื่องการโยกย้ายจากเชียงม่วนมาสู่เชียงคำ ภาพที่ 7. บ้านทาดสบแวน หรือ บ้านธาตุสบแวน เล่าเรื่องการขยับขยายบ้านเรือนไปสู่บ้านธาตุสบแวน ภาพที่ 8. ส้างแป๋งธาตุเจ้า หรือ บูรณะพระธาตุ เล่าเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุสบแวน ภาพที่ 9. ปูกข้าวหาป๋า หรือ ปลูกข้าวหาปลา เล่าเรื่องการทำอาชีพการเกษตรและการทำประมงเพื่อเลี้ยงชีพ ภาพที่ 10. แต่งดาตานสลาก หรือ งานบุญสลากภัต เล่าเรื่องประเพณีตานสลาก หรือ การทำบุญให้กับผู้ล่วงลับ ภาพที่ 11. กิ๋นแขกส้างก๋ำ หรือ แต่งงานสร้างกรรม เล่าเรื่องความเชื่อและขั้นตอนพิธีในการแต่งงานมีคู่ ภาพที่ 12. ตานทำหอผ้า หรือ งานเทศน์มหาชาติ เล่าเรื่องงานบุญครั้งใหญ่ประจำปี และภาพที่ 13. ไหว้สาเจ็ดปิง หรือ ไหว้ธาตุเพ็งเดือนหก อธิบายงานประเพณีการสักการะไหว้พระธาตุสบแวน