แนะวิธีการป้องกันตัวเองจากไข้เลือดออก

      ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่จะเป็นต้องรู้ว่าในช่วงฤดูฝนของทุกปีประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ดังนั้นในการใช้ชีวิตประจำวันหรือหากจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ใด จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม

     โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกิ ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะ ลักษณะของโรคที่สำคัญคือ มีไข้สูง มีอาการเลือดออก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้

อาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น 3 ระยะ จึงต้องสังเกตอาการให้ดีดังนี้

  1. ระยะแรก เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5 - 7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
  2. ระยะวิกฤต เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือ - เท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
  3. ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมากขึ้น ความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกอยู่ที่ประมาณ 7 - 10 วัน

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี หรือป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดนั่นเอง โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ 3 ข้อ

  1. ป้องกันตัวเองสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้ง หรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว
  2. กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย
  3. รับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ซึ่งจะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า


    ข้อมูล : กรมควบคุมโรค ที่อยู่ : 88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
    โทรศัพท์: 02-5903000

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,293,582