"เศรษฐกิจ BCG" เป็นทฤษฎีใหม่ในการพัฒนาประเทศที่ไทยได้ผลักดันสู่เวทีโลก โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุคใหม่ มาพัฒนาต่อยอดพื้นฐานด้านทรัพยากรชีวภาพหรือผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าให้ขยะแล้ว ยังลดปริมาณขยะภาคการผลิตให้เป็นศูนย์ (ZERO WASTE) อีกด้วย และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
เศรษฐกิจ BCG ในระยะแรกมุ่งเน้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิมให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และสุดท้ายคือ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ในอดีตอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่เพียงพอในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้าม "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" และลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศอันประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมูลค่าสูง ที่ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ เพื่อพัฒนาต่อยอด และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Economy”
โดยไทยได้มีการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไว้ดังนี้
- มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG
- ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน
- ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและส่วนประกอบอาหารมูลค่าสูง Top 5 ของโลก
- สร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตยา เครื่องมือแพทย์ วัสดุชีวภาพให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพส่งออก เป็นแหล่งจ้างงานทักษะสูงและรายได้สูง
- ระบบบริหารจัดการท่องเที่ยว นำไปสู่ Top 3 ของเอเชียแปซิฟิก จัดโดย Travel & Tourism Competitiveness Index, World Economic Forum
- ลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน
โมเดลเศรษฐกิจ BCG นอกจากจะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติแล้ว ยังสอดรับหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2564-7000