การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเดิมรองรับ BCG Model

         BCG Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลประกาศใช้มุ่งให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบ
ทั่วถึง ประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกันโดย B คือเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างอุตสาหกรรมจากฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียนคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเกิดขยะของเสีย และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และ G คือเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน BCG Model ครอบคลุม 4 สาขาคือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

         ทั้งนี้ หากสามารถยกระดับ BCG ด้านอุตสาหกรรมอาหาร จะสามารถเพิ่มศักยภาพภาคการผลิตของการผลิตอาหารปกติเติบโตขึ้นเป็น 6%
และการผลิตอาหารแบบใส่นวัตกรรมเติบโตขึ้นเป็น 10% มีเป้าหมายหลังจากดำเนินการนโยบายดังกล่าวในปี 2024 จะมีมูลค่าการผลิตอาหารของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 906,000 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของจีดีพี

         สำหรับ BCG สาขาอาหาร มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเดิม คือ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง ปลาทูน่า น้ำตาล อาหารกลุ่มนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต และส่งออกซึ่งสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกโดยกลยุทธ์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งมูลค่าทางการตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศถึงแม้จะมีประเด็นเรื่องมูลค่าเพิ่มต่ำ แต่ก็ยังเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่ต้องพัฒนาต่อ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลการผลิตทางการเกษตร โดยแนวทางการพัฒนาหลักเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มผลิตภาพและผลิตผลโดยนำเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาประยุกต์ใช้ เน้นกระบวนการผลิตสีเขียว ลดการสูญเสียระหว่างการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน

         การขับเคลื่อน BCG ด้านอาหารไปจนถึงปี 2570 จะมีตัวชี้วัดความสำเร็จคือ จะเพิ่มจีดีพีสาขาอาหาร 3 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มใหม่เพิ่มลดการสูญเสียอาหารจาก 30% ให้เหลือ 15% ในปี 2567 และเหลือ 10% ในปี 2573 โดยที่ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหารตอบโจทย์ที่วางไว้

ที่มา: สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

เบอร์โทรศัพท์: +66 2 564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,559