การกำหนดกลยุทธ์ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติที่มีความชัดเจน มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างความสามารถให้แก่ ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการอาศัยตลาดภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ ก่อนขยายผลไปสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากตลาดภาครัฐเป็นตลาดขนาดใหญ่ของการใช้เครื่องมือแพทย์
สำหรับกลยุทธ์ที่ 1: เน้นการสร้างดุลยภาพของอุปสงค์-อุปทาน โดยอาศัยกลไกนวัตกรรมแบบวิศวกรรมย้อนกลับ เพื่อให้มีการวิเคราะห์อุปสงค์จากข้อมูลการใช้งบประมาณภาครัฐในการนำเข้า และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มีปริมาณมาก หรือมูลค่าสูง สำหรับใช้ในการกำหนดเป็นเป้าหมายในการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมย้อนกลับในลักษณะมุ่งเป้า โดยอาศัยกลไกนวัตกรรมแบบวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ซึ่งเป็นกระบวนการค้นหาโครงสร้าง ฟังก์ชันการทำงานของอุปกรณ์หรือระบบหนึ่ง ๆ แล้ววิเคราะห์การทำงานในแต่ละส่วน จากนั้นจึงนำมาสร้างอุปกรณ์ใหม่หรือโปรแกรมใหม่ ที่ทำงานได้เหมือนเดิม โดยปราศจากการคัดลอกจากต้นแบบ และถือเป็นการปูทางไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากกระบวนการศึกษาสินค้าต้นแบบ ทำให้หลีกเลี่ยงจุดด้อยเดิม และปรับปรุงสิ่งที่ได้ผลดีกว่าเข้าไปในผลิตภัณฑ์ได้
โดยทั้งหมดที่ดำเนินการจะส่งผลให้ผลงานวิจัย และนวัตกรรมสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น มีการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมไทย ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ยกระดับขีดความสามารถและความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และเกิดการลงทุน และการจ้างงานของ SMEs
ที่มา: สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
เบอร์โทรศัพท์: +66 2 564 8000