ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทย

          ประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จึงเน้นที่การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และวัสดุเหลือใช้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนฐานการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพและเคมีชีวภาพในประเทศไทยนั้น สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในเรื่องของการเพิ่มความต้องการการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรภายในประเทศ และลดการพึ่งพาตลาดโลก โดยร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพที่ใช้ปิโตรเลียมสามารถทดแทนด้วยการใช้วัตถุดิบจากชีวภาพได้ โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีทุกประเทศมีมูลค่าสูงถึง 480,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพที่มีการผลิตมาก และเป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทยด้วย

ผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพที่มีการผลิตมากในประเทศไทย 

1. ไบโอซักซินิก
มีการก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตไบโอซักซินิกที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20,000 ตันต่อปี รวมไปถึงบริษัท PTT Chemical International Private Limited บริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้นในบริษัท Myriant ผู้ผลิตกรดซักซินิกรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้บริษัท ปตท. กลายเป็นผู้ผลิตไบโอซักซินิกรายใหญ่ของโลก มีกําลังการผลิตรวมกว่า 100,000 ตันต่อปี

2. Bio-based lactic acid
Bio-based lactic acid เกิดจากกระบวนการหมักวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย ใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อการยืดอายุการเก็บรักษา เพิ่มกลิ่นรส รวมถึงเป็นส่วนประกอบในยาและเครื่องสำอางต่าง ๆ รวมไปถึงเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตไบโอแลคติกอย่างบริษัท Corbion (Purac) มีกําลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพอย่างโรงงานของบริษัท Total-Corbion มีกําลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี

3. Biosurfactant
Biosurfactant เป็นสารลดแรงตึงผิว ประเทศไทยได้มีการพัฒนาสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่ผลิตจากจุลินทรีย์ ซึ่งมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว บางชนิดมีคุณสมบัติในการควบคุมความชื้น มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ และป้องการยึดเกาะของเชื้อโรคโดยทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตไม่ได้ โดยมีการใช้ Biosurfactant ในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยา และเครื่องสำอาง 

4. เอนไซม์
ปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้เอนไซม์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยารักษาโรค กระดาษ เครื่องหนัง และผลิตภัณฑ์ซักล้าง ทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงาน ลดระยะเวลา และการใช้สารเคมี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในฐานะที่ต้องนำเข้าเอนไซม์จากต่างประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตเองยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่จากการที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทจากต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศไต้หวัน มาลงทุนเพื่อทำการวิจัย และพัฒนาการผลิตในระดับ Prototype และ Pilot Process


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,293