ประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

           รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

           เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นประเด็นยุทธศาสตร์หลักที่เกี่ยวข้องกับ 4 ยุทธศาสตร์เป้าหมายของ BCG ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับการยอมรับว่าจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเพิ่มขึ้น ประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง รวมถึงเป็นการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน 

           ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยตระหนักว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล เป็นแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นแนวทางให้ประเทศบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของ GDP 

           แม้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยทำให้เกิดตลาดใหม่ สำหรับธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน แต่ประเทศไทยยังมีความท้าทายสำคัญซึ่งนับได้ว่าเป็นปัจจัยของความสำเร็จของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หมุนเวียน คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เข้าใจว่าขยะหรือของเสีย คือทรัพยากรที่ยังสามารถหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ หากมีการแยก จัดเก็บ หมุนเวียน และใช้ประโยชน์ รวมถึงทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,294,356