การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะในอุตสาหกรรมฐานชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Technology Intensive) แต่ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ (TRL 3-4) เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดกลยุทธ์ในการเร่งรัดความสามารถของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของการซื้อ การร่วมวิจัย และการสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยดังต่อไปนี้
- จัดตั้งกองทุนซื้อและร่วมวิจัย (Technology Localization) และกระจายให้กับผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs
- การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิต (Supply Chain) ในลักษณะ Spearhead พร้อมปรับปรุงกระบวนการในการจัดทำงบประมาณให้มีลักษณะ Multi Year เป็น Block grant และการเบิกจ่ายให้มีความคล่องตัว
- การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการใช้ประโยชน์จากโรงงานต้นแบบ เพื่อปิดช่องว่างของนวัตกรรมและเร่งรัดให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์
- ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (NQI) เพื่อกำหนดมาตรฐาน และทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย
- การส่งเสริมให้เกิดการสร้าง และพัฒนาบุคลากรในสาขาขาดแคลน เช่น วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ