การสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพภายในประเทศ เป็นการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ในด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ โดยมุ่งหวังให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอ มีแนวทางในการผลักดันดังนี้
1. พัฒนากลไกการตลาดที่คำนึงถึงต้นทุนของสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต มีการประกาศใช้การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เป็นมาตรการที่ให้ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Tax) กลไกในการจูงใจให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคช่วยกันลดการก่อมลพิษ และการกำหนดราคาสีเขียว (Green Price) ที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและใส่ใจธรรมชาติ ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวต้องมีการกำหนดอัตราที่จะส่งผลต่อการกระตุ้นการผลิตและการซื้อ
2. กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยไม่จำกัดจำนวน รับซื้อในราคาที่ส่งผลประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ มีการประกาศลดประเภทน้ำมัน โดยมุ่งเน้นที่พลังงานชีวภาพอย่าง E20 และ B10 เพื่อสร้างตลาดและดูดซับผลผลิตเกษตรส่วนเกิน
3. ปรับปรุงกฎหมายการใช้แอลกอฮอล์อย่าง พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 เพื่อเพิ่มประโยชน์จากการใช้เอทานอลที่นอกเหนือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ (น้ำยาฆ่าเชื้อ, เจลล้างมือ) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์เกรดพิเศษที่ใช้ในอาหารและเบเกอรี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรม
4. ชะลอการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ยังมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ในวงจำกัด โดยรอให้ประเทศไทยมีความพร้อมทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับอย่างทั่วถึง เช่น สถานีเพื่อการชาร์จแบตเตอรี่
5. ใช้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และโมเดลเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City) เพื่อสร้างตลาดรองรับสำหรับไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพ