เศรษฐกิจดิจิทัล แกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิต ขนส่ง ขายสินค้า และการบริการ ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่กลุ่มรายได้สูงลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาภายในปี 2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การค้า การบริการ การศึกษา สาธารณสุข และกระบวนการทางสังคมอื่น ๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การบริหารจัดการข้อมูลมีมาตรฐาน สร้างฐานข้อมูลที่มหาศาลให้สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน เป็นการรองรับการเติบโตของ e-Commerce สร้างโอกาสและรายได้ให้กับผู้ประกอบการในระดับสากล เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทย ก้าวสู่ความเป็น Digital Economy เต็มรูปแบบ
และภายใต้เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อาจเป็นภัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์บนโลกไซเบอร์ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานด้าน Cybersecurity ทั่วโลก อีกทั้งมีการเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหา และระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย พร้อมที่จะร่วมป้องกันปัญหาภาวะภัยคุกคามออนไลน์ ซึ่งการรับมือกับภัยดังกล่าวที่ภาครัฐจำเป็นต้องร่วมวางกรอบ และทิศทางที่ชัดเจนในระดับมหภาค คือ การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ
โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยโดย ระยะ 1 (ปี 2561-2565) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์
1. พัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพคนดิจิทัล และเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไป
2. ยกระดับภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้น เพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นร้อยละ 10 ต่อปี
3. ขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ 24,000 ชุมชน
4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล มีเป้าหมายเพื่อพัฒนา 7 เมือง ในเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
ส่วนแผนแม่บทการส่งแสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะ 2 (ปี 2566-2570) เป็นการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโปรแกรมและโครงการสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นการทำงานเฉพาะเรื่องให้เกิดผลกระทบและบรรลุเป้าหมายของประเทศ ดังนี้
1. เชื่อมโยงเป้าหมายของแผนระดับชาติสู่การปฏิบัติ
2. สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกมิติ
3. เกิด Digital Transformation ในทุกภาคส่วน
4. ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบด้านลบ
5. พลิกโฉมลักษณะงานทั้งหมด และงานใหม่ในทุกสาขาอาชีพ
6. เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ