วังจันทร์วัลเลย์ ซิลิคอนวัลเลย์ไทย แหล่งบ่มเพาะนักวิจัยน้อย

             หากพูดถึงเมืองแห่งนวัตกรรม หลายคนคงต้องนึกถึง "ซิลิคอนวัลเลย์" ของสหรัฐอเมริกา แหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่เพียบพร้อมต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่อย่างครบวงจรและสมบูรณ์แบบ

             แต่ที่ประเทศไทยมี “วังจันทร์วัลเลย์” ถือเป็นซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย ที่มีเป้าหมายหลักในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมสากล บ่มเพาะนวัตกรรม ผลักดันสตาร์ตอัป รวมไปถึงองค์กรที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีให้เติบโตไปพร้อมกัน ภายใต้แนวคิด Smart Natural Innovation Platform 

แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลักเชื่อมโยงและสนับสนุนกันอย่างเป็นระบบ คือ

1. พื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ต้นกล้าที่แข็งแกร่ง ต้องได้รับการเพาะบ่มภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และเพียบพร้อม วังจันทร์วัลเลย์จึงสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริ เมธี (VISTEC) แหล่งผลิตนักวิทย์แห่งอนาคต ที่นี่มีการบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล 

2. พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โซนนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS), เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS), เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) และเมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่น ๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่

3. พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสันทนาการ แวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน สถานที่ออกกำลังกาย โรงแรม ศูนย์การค้า แหล่งนันทนาการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยอาคารต่าง ๆ ยังดีไซน์แบบ Universal Design คำนึงถึงการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีทุกช่วงวัย


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,294,821