การปรับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน

           “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” เป็นแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็ว  

           โดยมีเป้าหมายให้ภาคการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรม และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน ปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัล และรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงยังสามารถรับมือกับความเสี่ยงสำคัญ และความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง

ทิศทางดำเนินการสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 

1. การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ 

1) Open Competition เปิดให้แข่งขัน โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (Virtual Bank) และขยายขอบเขต หรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิม

2) Open Infrastructure เปิดให้ผู้เล่นต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้นเช่น ระบบการชำระเงิน การใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (Retail CBDC) และกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงที่รองรับความต้องการเงินทุนหลากหลายรูปแบบ 

3) Open Data เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยจะผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่ง ไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้น เป็นลำดับ ภายใต้นโยบาย Open Banking และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ และพัฒนาบริการทางการเงิน

2. การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน โดย

1) ให้ภาคการเงินประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง

2) ช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถอยู่รอดและปรับตัวในโลกใหม่ได้ ด้วยการยกระดับการส่งเสริมทักษะด้านการเงินดิจิทัล ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สิน เช่น กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว และผลักดันกลไกแก้หนี้อย่างครบวงจรสำหรับคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

3. การกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่น และเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างบทบาทของ ธปท. ในการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ผ่าน 

1) การกำกับดูแลผู้ให้บริการตามลักษณะความเสี่ยง และความซับซ้อนของบริการทางการเงิน 

2) การทบทวนเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรค และสร้างภาระต้นทุนที่เกินจำเป็นแก่ผู้ให้บริการ 

3) การกำกับดูแลผู้ให้บริการให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเงิน และการกำกับดูแล non-Bank ที่มีบทบาทมากขึ้น 

           การปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่ จะทำให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการทางการเงิน บริหารความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน และรับมือกับสิ่งไม่คาดคิด รวมถึงผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถได้รับบริการที่ตอบโจทย์ และได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ภาคครัวเรือนมีความรู้ และพร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้เกินตัว ส่วนภาคธุรกิจมีแรงจูงใจ และได้รับเงินทุนเพียงพอเพื่อปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น 

           ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำ “ภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่” ภายในเดือน ก.พ. ปี 2566 เพื่อนำไปใช้กำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,297,415