ลงทุนสตาร์ตอัปแบบใด ได้ยกเว้นภาษี

            มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ตอัป (Startup) ของไทยได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้นสตาร์ตอัปไทย โดยมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี หรือ มิถุนายน 2575

            มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้นและง่ายขึ้น และส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ  

สำหรับนักลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องลงทุนใน Startup ไทยตามเกณฑ์ ดังนี้

1. ธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยี และต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด

2. การใช้เทคโนโลยีต้องทำให้เกิดรายได้ 80%

3. ธุรกิจต้องถูกรับรองโดย NIA หรือ สวทช. หรือ depa โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 

  • ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือให้บริการในธุรกิจหลัก โดยจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้
  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ หรือบริการอย่างมีนัยสำคัญ

อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

7) อุตสาหกรรมการบิน

8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

9) อุตสาหกรรมดิจิทัล

10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

11) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

12) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตรงและมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

13) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย

14) อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,286,176