ศัพท์แวดวงสตาร์ตอัปที่ควรรู้
ผู้ประกอบการใหม่ หรือธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นภายใต้นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในยุคการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี จึงเกิดคำเฉพาะในแวดวงธุรกิจนี้ เพื่อใช้พูดคุยระหว่างกลุ่มคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่ออธิบายแนวคิดทางธุรกิจของตัวเองเพื่อดึงดูดเงินสนับสนุนจากนักลงทุน
ดังนั้นการจะก้าวสู่โลกสตาร์ตอัป สิ่งสำคัญ คือการเรียนรู้และเข้าใจธุรกิจผ่านคำศัพท์ทางธุรกิจ เพื่อที่การเจรจา หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1. “ยูนิคอร์น” (Unicorn) และ “เดเคคอร์น” (Decacorn) เป็นคำที่ พบบ่อยตามข่าว โดย “ยูนิคอร์น” หมายถึง ธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ (1 billion) ส่วน “เดเคคอร์น” มาจากคำว่า (Deca-) ที่แปลว่า 10 หมายถึง ธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าเกิน 10 billion หรือ 1 หมื่นล้านเหรียญ
2. Problem Solution Fit คำนี้มักจะใช้ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของการค้นหาและพัฒนาไอเดีย แต่ส่วนใหญ่เป็นการมองหาปัญหา (Pain Piint) ในสังคม หรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อมาตอบโจทย์ธุรกิจ
3. Prototype หรือแบบจำลองของไอเดียที่อาจจะมีอยู่มากมาย แต่จะดึงมาใช้ทดสอบ และเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง
4. Product Market Fit (PMF) คือจุดสมดุลระหว่างตลาดกับผลิตภัณฑ์ หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ติดตลาด เป็นที่ต้องการของลูกค้า
5. Demo Day เป็นการนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุน ซึ่งงาน Demo Day จะถูกจัดขึ้นโดย หน่วยงานหรือบริษัทที่มีการสนับสนุน หรือบ่มเพาะสตาร์ตอัปให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว
6.Pitching เป็นการเสนอแผนธุรกิจ หรือไอเดียให้กับนักลงทุน หรือคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการร่วมลงทุน หรือบางครั้งอาจเป็นลักษณะการแข่งขันชิงรางวัล ดังนั้นการ Pitching จึงเป็นการนำเสนอแบบกระชับ สั้น ๆ ชัดเจน
7. Frothy startup valuations หมายถึง หุ้นราคาแพง หรือหุ้นที่มีราคาซื้อขายที่สูงเกินกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (Overvalued stock) มักถูกเรียกว่า “Frothy” ซึ่งปัจจุบันใช้แทนคำว่า “ฟองสบู่” (Bubble) คือธุรกิจสตาร์ตอัปที่ถูกมองว่าจะมีมูลค่าต่อหุ้นสูง ซึ่งมาจากคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นในอนาคตของนักลงทุน ความกลัวที่จะตกเทรนด์ และการที่ธุรกิจมีแนวโน้มจะไปสู่การเป็นยูนิคอร์น ซึ่ง Frothy นั้นเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ประกอบการ
8. MVP ย่อมาจาก Minimum Viable Product หมายความว่า สตาร์ตอัปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีฟังก์ชันการใช้งานเพียงพอในระดับหนึ่ง แล้วจึงปล่อยสู่ตลาดให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ ต่อจากนั้นก็นำคำติชม และข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานมาพัฒนา และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมถึงโมเดลธุรกิจของบริษัทต่อไป การสร้างสตาร์ตอัปด้วยวิธี MVP นี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างซอฟต์แวร์ที่มีแค่ฟีเจอร์หลัก ๆ ขึ้นมาเท่านั้น การออกแบบและวาดรูป หรือทำวิดีโอสั้น ๆ เพื่ออธิบายผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างหน้าเว็บไซต์ของบริษัทขึ้นมาแล้วให้ผู้ที่สนใจกรอกแบบฟอร์มเอาไว้ เป็นต้น
9. Pivot ใช้กล่าวถึงช่วงเวลาที่บริษัทสตาร์ตอัปกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา โดยอาจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมาประยุกต์ และปรับใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ อีกความหมายหนึ่ง คือ สตาร์ตอัปแห่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจหรือกลยุทธ์เดิม ๆ ที่บริษัทเคยตั้งใจไว้
10. Super-angel investors หรือ Micro-VC หมายถึง พวกนักลงทุนมือโปรที่ลงทุนในสตาร์ตอัปด้วยเงินตัวเองคล้ายกับ Angel แต่ที่ต่าง คือ คนเหล่านี้มีทรัพยากร ความเข้าใจ และคอนเนคชันกับธุรกิจสตาร์ตอัปที่กว้างกว่า
11. Deep - dive meeting หรือการเรียกมาคุยแบบเจาะลึก หลังจากที่ได้ Pitch หรือเสนอขายธุรกิจแก่นักลงทุน หากมีนักลงทุนสนใจ พวกเขาจะชวนคุณมา Deep - dive meeting เพื่อคุยรายละเอียดมากขึ้นด้วยคำถามที่ยากก่อนที่จะให้ข้อคิดเห็น ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีกับผู้ประกอบการ เพราะจะเป็นโอกาสได้แสดงทักษะ ความเข้าใจในธุรกิจ และแรงจูงใจของคุณให้นักลงทุนได้เห็นถึงศักยภาพ ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวไว้ให้ดี
12. Growth Hacking marketing ที่หลายคนในแวดวงสตาร์ตอัปโดยเฉพาะนักการตลาดอาจคุ้นเคย หมายถึง กลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยใช้ต้นทุนให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีผู้คนเข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เช่น การใช้ Social Media และ Viral Marketing ซึ่งแตกต่างจากการตลาดแบบเดิมที่มักพึ่งพา Traditional Media จำพวกวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ โดยการตลาดแบบ Growth Hacking นั้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก แม้จะใช้วิธีที่ดูไม่หวือหวาอะไรเลยแต่ก็สามารถเพิ่มฐานผู้ใช้งาน และสร้างกระแสความสนใจ จนผู้คนบอกเล่าแบบปากต่อปากได้ นอกจากนี้ยังมีคำว่า “Growth hackers” หรือพวกคนที่ทำการตลาดด้วยกลยุทธดังกล่าว ซึ่งมีความฉลาดเทียบเท่ากับพวกแฮกเกอร์ซอฟต์แวร์ และได้รับการยอมรับอย่างมากจากพวกนักลงทุน
13. Bootstrapping หมายถึง ทีมสตาร์ตอัปที่เริ่มต้นสร้างบริษัทขึ้นมาเอง โดยปราศจากความช่วยเหลือของนักลงทุนหรือสถาบันการเงิน โดยใช้แค่เพียงเงินเก็บของตัวเอง รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ มาดำเนินธุรกิจจนเฟื่องฟู
14. Burn Rate หมายถึง จำนวนค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนที่บริษัทสตาร์ตอัปจะสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ของตัวเองสำเร็จ โดยต้องคิดคำนวณต้นทุนทุกอย่าง เช่น เงินเดือนของพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ออฟฟิศ และค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น โดยแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ Gross Burn Rate เป็นรายจ่ายทั้งหมดในหนึ่งเดือนของสตาร์ตอัป ส่วนอีกประเภทเราจะเรียกว่า Net Burn Rate ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังจากหักรายได้แล้ว
15. FMA (First Mover Advantage) คือ ข้อได้เปรียบของคนที่ลงมือทำอย่างรวดเร็วก่อนคนอื่น ๆ สตาร์ตอัปที่ก้าวนำหน้าคู่แข่งในแวดวงเดียวกัน แล้วเสนอบริการที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร จะมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนคู่แข่ง จึงมักมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ และกลายเป็นผู้เล่นที่ถือไพ่เหนือกว่าในอุตสาหกรรมนั้น ๆ