ต่างชาติคึกคัก ทะลักลงทุนไทยหลังคลี่คลายโควิด-19

ต่างชาติคึกคัก ทะลักลงทุนไทยหลังคลี่คลายโควิด-19

           ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่มีนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงได้พยายามออกมาตรการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจมาดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อหวังให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวและเติบโตขึ้นได้เร็วขึ้น 

           โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าการลงทุนในรอบ 11 เดือน ของปี 2565 ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปี 2542 (ม.ค.-พ.ย.2565) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท เกิดจ้างงานคนไทย 5,008 คน 

           เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 (ปี 2565 อนุญาต 530 ราย ปี 2564 อนุญาต 500 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 47,884 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74 (ปี 2565 ลงทุน 112,466 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 64,582 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.1 (ปี 2565 จ้างงาน 5,008 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,003 คน)

           โดยในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลงทุน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น บริการออกแบบ, ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา, บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด, บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า, บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย และบริการพัฒนา และให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์ และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

           ส่วนการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนม.ค.-พ.ย. 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48,316 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของเงินลงทุนทั้งหมด 

           นักลงทุนต่างชาติที่เข้าลงทุนมาจากประเทศญี่ปุ่น 42 ราย เงินลงทุน 24,520 ล้านบาท ประเทศจีน 9 ราย วงเงินลงทุน 10,956 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 2,156 ล้านบาท 

           ธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย, บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง, บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชัน การอัปเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,293,577