มาตรการ “ราคาคาร์บอน” กับการแข่งขันของประเทศ
มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Taxes) และมาตรการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มักนิยมเรียกรวมกันว่า มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ถือเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อต้นทุนการใช้ทรัพยากร สอดคล้องกับหลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle)
มาตรการราคาคาร์บอนช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยอมรับและปรับเปลี่ยนการผลิตสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาด ตราบเท่าที่ยังมีการใช้เชื้อเพลิงที่มาจากคาร์บอนอยู่ เพราะยังจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนหรือซื้อใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนนั้นอยู่ ดังนั้นนอกจากจะมีผลกระตุ้นในระยะสั้น ให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกที่มีสัดส่วนคาร์บอนต่ำลงแล้ว กระตุ้นให้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานก๊าซธรรมชาติทดแทนการผลิตด้วยถ่านหินมากขึ้น กระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์ทดแทนน้ำมันเบนซินธรรมดา
ในระยะยาวมาตรการราคาคาร์บอนยังสร้างแรงจูงใจให้หันมาติดตั้งระบบพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงปลอดคาร์บอนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม รวมทั้งหันมาใช้สินค้าที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากขึ้น เช่น รถยนต์ Eco - car รถไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนที่ต้องจ่ายราคาคาร์บอนลง
แม้มาตรการราคาคาร์บอน เป็นมาตรการที่เพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการเจรจาเพื่อกำหนดอัตราภาษีคาร์บอน หรือกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซฯ ที่ใกล้เคียงกัน และจัดตั้งตลาดซื้อขายใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนร่วมกัน สำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ดังนั้น การกำหนดราคาคาร์บอน มาใช้ในองค์กรหรือธุรกิจ จะก่อให้เกิดประโยชน์ ได้แก่
• ช่วยในการประเมินความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Risks)
• ช่วยในการตัดสินใจลงทุนในโครงการใหม่ ๆ หรือการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
• ช่วยสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
• เตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรในการรับมือกับกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภาษีคาร์บอน หรือ ETS เป็นต้น
• เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผน และกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างเหมาะสม
• เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy or Green Economy) ในอนาคต
• เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่มีโครงการหรือการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะสามารถแสดงมูลค่าของก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน