ยุทธศาสตร์การค้าไทยกับการส่งเสริมตลาดรับ BCG

ยุทธศาสตร์การค้าไทยกับการส่งเสริมตลาดรับ BCG

           โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  นับเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสอดคล้องทิศทางการพัฒนาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของใช้การกำหนดสินค้าที่จะส่งเสริมการส่งออก ตามทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย แยกได้ 4 คุณลักษณะ ได้แก่ 

           (1) สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรและปัจจัยการผลิตภายในประเทศ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม มายกระดับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง

           (2) สินค้าที่ต้องปรับการใช้วัตถุดิบ และหรือกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้า 

           (3) สินค้าที่ต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเทรนด์การบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร 

           (4) สินค้าที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เข้าข่ายเป็นสินค้าส่งออก ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG  

ดังนั้นในการส่งเสริมการผลิต การตลาด สินค้าของแต่ละกลุ่มสินค้า ภายใต้ Model BCG เพื่อส่งเสริมการส่งออก จึงประกอบด้วย 

1. กลุ่มเกษตรและอาหาร อาหารอินทรีย์ (ออร์แกนิก) อาหารฟังก์ชัน เน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่มีความต้องการสินค้าที่ตอบสนองต่อสุขภาพ สินค้ามักมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ตลาดมีการแข่งขันน้อย การผลิตอาหารอินทรีย์ ผลักดันผู้ผลิตสินค้าคุณภาพให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs/Start - up ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้น ส่วนอาหารฟังก์ชัน สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้นำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และโภชนาการมาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

2. กลุ่มเคมีภัณฑ์ชีวภาพและวัสดุชีวภาพ ได้แก่ กลุ่มสินค้าโอเลโอเคมิคัล พลาสติกชีวภาพ ตลาดที่มีโอกาสขยายการส่งออกพิจารณาจากขนาดตลาด และอัตราการเติบโตของการนำเข้าที่เติบโตต่อเนื่องควบคู่กัน ส่วนการผลิต ภาครัฐควรสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ และวัสดุชีวภาพ เพื่อกระจายรายได้ไปยังธุรกิจหลากหลายกลุ่มและขนาด ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุน ด้านองค์ความรู้ วิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าตอบสนองต่อตลาด เกิดการประหยัดต้นทุนต่อขนาด (Economies of Scale) และแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ

3. กลุ่มสารสกัดจากพืช ภาครัฐกับเอกชนร่วมมือยกระดับการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูงโดยสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา (R&D) ต้นน้ำ การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในองค์กรภาครัฐและเอกชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดจากพืช ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า และมาตรฐานวัตถุดิบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หรือซัพพลายเออร์ (Supplier) รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจหรือ Start-up ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมให้สามารถเข้าสู่ตลาด เพื่อให้ไทยสามารถกลายเป็นผู้ส่งออกสำคัญ และส่งเสริม ผลักดันอุตสาหกรรมสารสกัดจากพืชเป็นอุตสาหกรรมส่งออกในระยะยาว


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,116