ความรับผิดในเรื่องอากรขาเข้า และอากรขาออก สำหรับสินค้าผ่านแดน

     การขนส่งสินค้าผ่านประเทศไทย ตามกฎหมาย ผู้ทำการขนส่งต้องรับผิดชอบทั้งในเรื่องอากรขาเข้า และ อากรขาออก ซึ่ง อากร คือ เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บจากการนำของเข้ามาหรือส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ดังนั้น ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นของที่ต้องเสียอากร ส่วนอัตราภาษีที่เรียกเก็บบางประเภทเรียกเก็บตามสภาพ บางประเภทเรียกเก็บตามราคา บางประเภทเรียกเก็บทั้งตามสภาพและตามราคา ในกรณีสินค้าผ่านแดนที่ต้องแสดงความรับผิดในเรื่องอากรขาเข้าและอากรขาออกแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. ของผ่านแดน หรือถ่ายลำ ที่ได้ยื่นใบขนสินค้าตามแบบ และ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และได้นำของออกไปนอกประเทศไทยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ของนั้นไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดที่จะต้องเสียอากร กล่าวคือ ไม่ต้องชำระอากรขาเข้า และ อากรขาออก
  2. ของผ่านแดน หรือถ่ายลำ ที่มีการยื่นคำขอเปลี่ยนเป็นการนำเข้าภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ปฏิบัติครบถ้วนตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้า ของนั้นต้องชำระอากรขาเข้าโดยคำนวณตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
  3. ของผ่านแดนตามความตกลง ว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ไม่ได้นำออกไปนอกประเทศไทย หรือ ไม่มีการยื่นคำขอเปลี่ยนเป็นการนำเข้า ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ของนั้นตกเป็นของตกค้า
  4. ของผ่านแดนตามความตกลง GATT 1994 หรือ ของถ่ายลำ ที่ไม่ได้นำออกไปนอกประเทศไทย หรือ ไม่มีการยื่นคำขอเปลี่ยนเป็นการนำเข้า ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ของนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ที่มา : สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.)
โทร. 0 2667 7000 ต่อ 20-5604


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,290,649