เงื่อนไขสำหรับการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (PCT)
1. ในการขอรับสิทธิบัตรให้ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนด
1.1 คำขอรับสิทธิบัตรต้องมีรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และบทสรุปการประดิษฐ์ ยื่นไปพร้อมกับคำขอ และในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเข้าใจการประดิษฐ์ได้ดีขึ้น ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรจัดให้มีรูปเขียนประกอบคำขอรับสิทธิบัตรยื่นไปพร้อมกับคำขอด้วย
1.2 ในกรณีที่การประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพใหม่ ต้องแสดงหนังสือรับรองการฝากเก็บจุลชีพ และเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของจุลชีพนั้น ซึ่งออกให้โดยสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะประกาศรายชื่อ
2. การมอบอำนาจ
2.1 กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้มอบอำนาจให้ตัวแทน ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักร โดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่
2. ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทย ต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
2.2 ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน ต้องเป็นตัวแทนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น
2.3 หนังสือมอบอำนาจต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนี้
- กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ให้ปิดอากร 10 บาท
- กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ให้ปิดอากร 30 บาท
- กรณีมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคน ให้ปิดอากรคิดตามรายบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท
ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
โทร. 0 2612 6060