สิทธิบัตร หมายถึง สิทธิพิเศษที่กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของสิทธิบัตร เพื่อปกป้องการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น ผลิต ใช้ ขาย หรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยสิทธิบัตรแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง การให้ความคุ้มครองการคิดค้นที่เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้าง กลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ที่มีความประสงค์จะจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (แบบ สป/สผ/อสป/001-ก)
3. หนังสือสัญญาโอน (ระบุชื่อรายละเอียดการประดิษฐ์ที่โอน, ลงลายมือชื่อผู้โอน, ผู้รับโอน, พยาน 2 คน (ถ้ามี))
4. เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ระบุในข้อ 14. ของ (แบบ สป/สผ/อสป/001-ก)
5. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
6. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับโอนการประดิษฐ์ (ถ้ามี)
7. หนังสือรับรองนิติบุคคล (หากไม่ได้ระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก ในแบบพิมพ์คำขอฯ ยังคงใช้สำเนาอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง แต่หากระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักในแบบพิมพ์คำขอฯ ไม่ต้องใช้สำเนาเอกสาร เจ้าหน้าที่จะดึงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
8. หนังสือมอบอำนาจ
9. คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิขอรับสิทธิบัตร (แบบ สป/สผ/อสป/001-ก(พ))
ทั้งนี้การขอจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 50 เดือน 111 วัน หรือประมาณ 4 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสาร รายละเอียดและเนื้อหาของการประดิษฐ์ การพิจารณาของผู้ตรวจสอบ ระยะเวลาที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรใช้ในการแก้ไขคำขอ ระบบข้อมูลแฟ้มเอกสารคำขอ และการดำเนินการภายในกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
โทร. 0 2612 6060