วิธีการขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (UAVs) กรณีเป็นผู้ครอบครอง

     การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน หรือ Unmanned Aerial Vehicles : UAVs แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ในส่วนของผู้ประกอบการ และส่วนของผู้ครอบครอง เนื่องจาก มติสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ห้ามโดรนใช้งานจนกว่าจะมาลงทะเบียน หากฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ โดยสำหรับการขึ้นทะเบียนมีวิธีการและเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป โดยในส่วนของผู้ครอบครอง (บุคคล/นิติบุคคล) หรือผู้ครอบครองอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน กสทช. ที่สำนักการอนุญาตและกำกับวิทยุคมนาคม และสำนักงาน กสทช. ภาค/เขต โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. ผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ที่ใช้คลื่นความถี่และกำลังส่งถูกต้องตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป ให้ขึ้นทะเบียนโดยกรอกคำขอขึ้นทะเบียนและแนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้ง สำเนาหลักฐานการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี จากผู้ขาย เอกสารแสดงลักษณะทางเทคนิคของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ หรือสำเนาเอกสารแบบรับรองตนเองของผู้ประกอบการ (Supplier Declaration of Conformity : SDoC) จากผู้จำหน่าย/ผู้นำเข้า 
  2. ผู้ครอบครองอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป เมื่อขึ้นทะเบียน กับสำนักงาน กสทช. แล้ว จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497  
  3. ผู้ครอบครองที่นำเข้าอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป ที่มีลักษณะเป็นของใช้ส่วนตัว (Personal Effects) เป็นการชั่วคราว โดยมิได้มีจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ และจะนำออกนอกราชอาณาจักรเมื่อหมดความจำเป็น ต้องยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับการใช้งานเป็นทั่วไป (คท.30) พร้อมแบบรับรองตนเองของผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับการใช้งานเป็นการชั่วคราว (Owner Declaration of Conformity) (แบบ คท.32) เช่น การใช้งานประเภทสื่อสารมวลชน หรือการถ่ายทำภาพยนตร์ของทีมงานชาวต่างชาติ การใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในงานวิจัยและพัฒนา      
  4. กรณีชาวต่างชาติที่นำเข้ามาใช้ในลักษณะของใช้ส่วนตัว (Personal Effects) เป็นการชั่วคราว ให้ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับการใช้งานเป็นทั่วไป (แบบ คท.30) พร้อมยื่นแบบรับรองตนเองของผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับการใช้งานเป็นการชั่วคราว (Owner Declaration of Conformity) (แบบ คท.32)

 

ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,296,272