การออกหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม

     ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องการรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม พ.ศ. 2543 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 ประกาศให้พืชที่มีรายชื่อในเอกสารแนบท้ายนี้ได้ตรวจพิจารณาแล้วรับรองว่าเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม รวมระยะเวลาในการดำเนินการ 5 วันทำการ ซึ่งได้มีการปรับปรุงกระบวนการและลดรอบวันทำการเหลือ 3 วันทำการ ทั้งนี้หากเป็นพืชที่มิได้อยู่ในประกาศฉบับนี้ให้เข้าสู่กระบวนการรับรองพืชหรือสินค้าพืชที่มิได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ในกรณีเจ้าหน้าที่มีข้อสงสัยในหลักฐานที่ยื่นขอ สามารถแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอมาชี้แจงเพิ่มเติมได้ โดยขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือจะเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารครบถ้วนถูกต้องตามที่ระบุไว้ในคู่มือประชาชนเรียบร้อยแล้ว 

โดยเอกสารประกอบการออกหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทย เป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม มีดังนี้ 

  1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง 1 ฉบับ
  2. หนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับจริง 1 ฉบับ รายละเอียด ของเอกสารออกไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกเอกสาร ผู้ขออนุญาตให้ทำหนังสือรับรองนิติบุคคลตัวจริงมาในวันยื่นคำขอเซ็นสด พร้อมประทับตรานิติบุคคล เอกสารที่เป็นสำเนาให้รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ พร้อมวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น แนบข้อบังคับของนิติบุคคลบัญชีรายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)/ ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ .20(ถ้ามี)
  3. ทำหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทย เป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม สทช. 1-2/1 ฉบับจริง 1 ฉบับ
  4. รายละเอียดชื่อพืชและจำนวนสินค้าพืชเพื่อการส่งออก สทช. 1-2/2 ฉบับจริง 1 ฉบับ
  5. หนังสือมอบอำนาจฉบับจริง 1 ฉบับ

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการออกหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ดังนี้ 

  1. ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (สทช.1-2/1) และ
  2. รายละเอียดชื่อพืชและจำนวนสินค้าพืชเพื่อการส่งออก (สทช.1-2/2) พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบให้ถูกต้องครบถ้วน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร พร้อมลงทะเบียนรับคำขอและออกใบชำระค่าธรรมเนียม
  3. เจ้าหน้าที่ตรวจพิจารณาข้อมูลและออกใบรับรอง 
  4. ผู้มีอำนาจลงนามในใบรับรอง  พร้อมแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอรับบริการมารับใบรับรอง

      โดยการดำเนินการมีค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองพืชที่ปลูกในประเทศไทย เป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม มีค่าธรรมเนียม 200 บาท


ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 

แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 

เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,290,821