“มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

     ของดีจังหวัดราชบุรี อีกหนึ่งอย่าง และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI คือ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ  โดดเด่นเรื่องรสชาติที่หอมหวาน เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ  ทำให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันอาหาร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจาก มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี  ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เพื่อยกระดับมะพร้าวน้ำหอมให้มีมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิต สินค้าล้นตลาด และมะพร้าวตกเกรดจากปัญหารอยช้ำระหว่างเก็บเกี่ยว และขนส่ง ทำให้ต้องขายในราคาต่ำกว่าทุนแก่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป หรือต้องทิ้งจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาขยะจากการผลิต โดยจังหวัดราชบุรีให้เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องการขับเคลื่อน และกำหนดให้มะพร้าวน้ำหอมเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรเป้าหมาย

     ปัจจุบันมีการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมหลายรูปแบบที่พร้อมถ่ายทอดให้แก่ชุมชน เช่น  ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากมะพร้าวน้ำหอมไทย ผลิตด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบขั้นตอนเดียว ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง COCOBIOTIC ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโพรไบโอติกพร้อมดื่ม ที่มีสี กลิ่นหอม รสชาติ และความซ่า คล้ายชาหมักคอมบุชา อุดมไปด้วยกลุ่มจุลินทรีย์โพรไบโอติก ช่วยในเรื่องระบบการย่อยอาหาร ผลิตภัณฑ์มะพร้าวหมักเลียนแบบโยเกิร์ต และโยเกิร์ตพร้อมดื่ม ที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีชีวิต จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกกลุ่ม Plant-based

     ในส่วนของเทคโนโลยีการยืดอายุน้ำมะพร้าวน้ำหอม ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการแปรรูปอาหารออกแบบกระบวนการยืดอายุด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ กระบวนการแช่เยือกแข็ง กระบวนการสเตอริไลซ์ และกระบวนการ High-Pressure Processing (HPP) ทำให้สามารถเก็บรักษาน้ำมะพร้าวได้นานขึ้น 30 วัน ถึง 1 ปี (ขึ้นกับกระบวนการที่ใช้) โดยที่ผู้บริโภคยังยอมรับกลิ่นรสที่เป็นอัตลักษณ์ของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี

     การดำเนินการผลักดันขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญในทุกมิติ ทั้งในด้านการเกษตร การแปรรูป พลังงานทางเลือก และการท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับรายได้ให้เกษตรกร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่ง สวทช. พยายามใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์ติดต่อ : 0 2564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,292,463