หากพูดถึงสมุนไพรไทย ขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริง มีสรรพคุณเป็นยาสามารถใช้รักษาโรคได้ ดังนั้นสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จึงร่วมกับสายงานอุตสาหกรรม และชุมชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาวิเคราะห์โอกาสทางการค้าสมุนไพร “ไพล” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal Champion)
จากการศึกษาสินค้าไพล เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงสามารถแปรรูปจากวัตถุดิบสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายทั้งสารสกัด น้ำมันหอมระเหย และสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมหรือวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ลูกประคบ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องสำอาง
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพล ภูมิปัญญาชาวบ้านจะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของลูกประคบ สมุนไพรอบตัว ยารักษาโรคผิวหนัง และนำเหง้าไพล มาทอดในน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา ใช้สำหรับทา ถูหรือนวด ต่อมาเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการสกัดสารสำคัญจากไพล ทำให้น้ำมันไพลมีประสิทธิภาพสูง อย่างเช่น ครีมน้ำมันไพลสำหรับนวด ยาหม่องไพล ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไพล มีโอกาสเติบโตสูงทั้งตลาดใน และต่างประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2564 มีการปลูกไพลทั่วประเทศ 169 ไร่ แหล่งผลิตสำคัญอยู่จังหวัดกาญจนบุรี เชียงใหม่ น่าน สระแก้ว และสกลนคร มีผลผลิตรวม 507 ตัน ลดลงมากจากปี 2562 และปี 2563 ที่มีปริมาณผลผลิต 1,935 และ 1,539 ตัน ตามลำดับ จะเห็นว่าผลผลิตไพลของไทยยังมีความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งหมด โดยการส่งออกไพลของไทยในช่วงปี 2559-2564 มีปริมาณเพียง 2.17 ตัน ราคาเฉลี่ยไพลสด 12 บาท/กิโลกรัม ไพลแห้ง 100 บาท/กิโลกรัม ไพลผง 150 บาท/กิโลกรัม และน้ำมันหอมระเหย 5,000 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้จากระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) พบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกไพล เช่น บึงกาฬ กระบี่ นราธิวาส สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และชุมพร ส่วนปัญหาสำคัญในการปลูกไพล คือ ไม่ควรปลูกไพลซ้ำที่เดิมติดต่อในปีถัดไป เนื่องจากปัญหาโรคเหง้า และรากเน่า ต้องสลับปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นก่อนการปลูกในฤดูถัดไป และหากต้องการไพลคุณภาพสูงเพื่อนำมาสกัดน้ำมัน ต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 2 ปี จึงอาจทำให้เกษตรกรขาดรายได้ และไม่มีแรงจูงใจในการปลูกไพลให้ได้คุณภาพ ซึ่งภาครัฐต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านการเพาะปลูก การหาตลาด การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และความงาม สะท้อนจากมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรที่เติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่า ปี 2565 การค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก มีมูลค่ารวม 56,510 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน มีมูลค่า 1,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2566 จะมีมูลค่า 1,676.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6
ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
เบอร์ติดต่อ : 0 2507 5822