รายละเอียดคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

     การจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กฎหมายปกป้องคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีการใช้งาน หรือมีประโยชน์ใช้สอย ผู้ที่มีความต้องการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต้องจัดเตรียมเอกสารตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด พร้อมทั้งผ่านหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการขอจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้ว สิ่งต่อมาที่สำคัญอีกประการ ก็คือ คำขอรับสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอต้องมีรายละเอียดประกอบคำขอดังนี้ 

  1. แบบพิมพ์คำขอ [แบบ สป/สผ/อสป/001-ก]
  2. รายละเอียดการประดิษฐ์ ต้องบรรยายรายละเอียดที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้งอันจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติตามการประดิษฐ์นั้นได้ ดังนี้ 
    1. ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
    2. ระบุสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
    3. ภูมิหลังของศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เข้าใจการประดิษฐ์นั้นดีขึ้น และเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ระบุเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วย (ถ้ามี)
    4. อธิบายลักษณะ และความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
    5. เปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
    6. อธิบายรูปเขียนแต่ละรูปโดยย่อ (ถ้ามี)
    7. วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด 
  3. ข้อถือสิทธิ ต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรประสงค์จะขอความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้ง รวมทั้งต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์
  4. รูปเขียน (ถ้ามี) ต้องชัดแจ้ง สอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ และเป็นไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ และให้หมายความรวมถึงแผนภูมิและแผนผังด้วย
  5. บทสรุปการประดิษฐ์ ต้องสรุปสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผย หรือแสดงไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และรูปเขียน (ถ้ามี) โดยต้องระบุลักษณะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์โดยย่อ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงปัญหาทางเทคนิค ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยการประดิษฐ์ และการใช้การประดิษฐ์นั้น
  6. รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 21
  7. เอกสารประกอบคำขอ ตามที่ระบุในข้อ 14 ของ [แบบสป/สผ/อสป/001-ก]


แหล่งที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,295,807