กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมาย BEC อาคารก่อสร้างใหม่ และปรับปรุงใหม่ ออกแบบต้องอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐาน เป้าหมายเพื่อการลดใช้พลังงาน และไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 7.4 ล้านตัน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 หรือ Energy Efficiency Plan : EEP 2022 ที่จะนำมาประกอบเป็นแผนพลังงานชาติ โดยร่างแผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงานลง หนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ คือ การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC) ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 หรือเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code หรือ BEC) เพื่อควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่จะใช้บังคับอาคารก่อสร้างใหม่ หรือปรับปรุงดัดแปลงกับ 9 ประเภทอาคาร ที่มีขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ได้แก่ โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า อาคารชุด และอาคารชุมนุมคน
อาคารจะต้องถูกออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ ครอบคลุม 6 ระบบ ได้แก่ ระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียน วางเป้าหมายจำนวนอาคารราว 3,650 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 1,166 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นเงินกว่า 47,951 ล้านบาท ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7.791 ล้านตัน ภายในปี 2580
ทั้งนี้ หากอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ผู้ประกอบการได้ 10-20 % นอกจากนี้ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญ และใส่ใจด้านประหยัดพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในอาคารเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ยกระดับมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในประเทศ สร้างมาตรฐานทางวิชาชีพด้วย
ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : กรมโยธาธิการและผังเมือง
เบอร์ติดต่อ : 0 2201 8000