ไทยเฝ้าระวัง 12 ผลไม้ไทย ถูกแอบอ้างถิ่นกำเนิด หวั่นกระทบชื่อเสียงผลไม้ไทยในตลาดโลก

     ผลไม้ของประเทศไทย ถือว่าได้รับความนิยมในตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดส่งออกไปยังประเทศจีน ขณะเดียวกันพบว่ามีการแอบอ้างนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าจากประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน

     สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับตาเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีน  โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงเริ่มฤดูผลไม้ของไทยที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และมีการแจ้งข้อมูลและการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรว่า มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีลักลอบนำเข้าผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E  (หนังสือแสดงสัญชาติของสินค้า ว่ามีการผลิตและส่งออกจากประเทศในเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งใช้ลดหย่อนภาษีนำเข้าจากจีนได้) เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ไทยเป็นฐานในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทย

     สำหรับผลไม้ 12 รายการ ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดอยู่ในการเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์ผลไม้ไทย (Watch-List) ส่งออกไปประเทศจีน ได้แก่ 

  1. มังคุดสด
  2. ทุเรียนสดและแช่แข็ง
  3. ส้มโอสดหรือแห้ง
  4. ลำไยสด
  5. มะพร้าว
  6. ขนุน
  7. น้อยหน่า
  8. สับปะรด
  9. มะม่วง
  10. กล้วย
  11. ชมพู่
  12. เงาะ 

     โดยผลไม้ทั้ง 12 รายการ จะมีขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดที่เข้มงวด และรัดกุมมากขึ้น โดยให้ผู้ยื่นขอ Form E จะต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า (2) วันที่ส่งออก (3) ด่านที่ส่งออกของไทย (4) ประเภทยานพาหนะ   (5) ชื่อยานพาหนะ 

     นอกจากนี้ ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ (1) หนังสือรับรองว่า เป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (หนังสือรับรองกรมฯ) และ (2) เอกสารหลักฐานอื่น ที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ อาทิ ใบเสร็จซื้อขาย  

     ขณะเดียวกันการส่งออกผลไม้ของไทยไปประเทศจีน ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทย ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 ข้อ 9 (1) – (3) ที่กำหนดให้ผลไม้ที่ส่งออก ต้องมาจากสวนผลไม้ หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทั้งจาก กวก. และสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้วเท่านั้น

     โดยเจ้าของสวนผลไม้ จะได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืชอาหาร (GAP) ส่วนเจ้าของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะได้รับหนังสือสำคัญ แสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงานตรวจผลไม้ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ป้าย หรือฉลาก แสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์ 

     ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียน กับสำนักงานศุลกากรจีน เพื่อยืนยันความถูกต้องของแหล่งที่มาของผลไม้ ดังนั้นหากผู้ส่งออกรับซื้อผลไม้จากสวน หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) สามารถนำเอกสารดังกล่าว ใช้แนบประกอบการยื่นขอ Form E เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของข้อมูลการได้มาซึ่งวัตถุดิบ  หรือสินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ตามที่ กำหนด

     ทั้งนี้จากการออกหนังสือรับรอง  Form E สินค้าผลไม้พิกัดศุลกากรที่ 0801 – 0810 ในปี 2566 ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2566 มีจำนวนรวม 13,034 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ทุเรียนสด (2) มะพร้าว และ (3) ลำไยสด

แหล่งที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
เบอร์ติดต่อ : 0 2507 7572 

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,471