เช็กมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกสกัดขยะพลาสติกที่คนทุกภาคส่วนช่วยแก้ไขได้

      นโยบายของรัฐที่ต้องการเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อแก้ไขปัญหาขยะกว่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผู้ประกอบการร้านค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกตาม นโยบายของรัฐที่ต้องการเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ พลาสติกของประเทศไทยซึ่งถูกจัดอันดับว่าเป็นสาเหตุของมลภาวะอันดับต้น ๆ ของโลก ประกอบกับที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รายงานข้อมูล (ปี 2561) พบคนไทย
ใช้ถุงพลาสติกมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ซึ่งถุงพลาสติกเหล่านี้ มีที่มาจาก 3 แหล่งหลัก โดยสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 40 มาจากตลาดสดเทศบาล และภาคเอกชน คิดเป็นจำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี และอีกร้อยละ 30 มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และร้อยละ 30 มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี

      จึงเป็นที่มาของแผนโรดแมพการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยปี 2561-2573 โดยมีเป้าหมายแรกต้องลด เลิกใช้พลาสติก และใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกเลิกใช้พลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก ส่วนเป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% โดยภายในปี 2570 คาดการณ์ว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี

      ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา (ปี 2565) กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าตามแผนโรดแมพเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด หนึ่งในนี้ คือถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน รวมทั้งเลิกการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ตลอดจนส่งเสริมให้นำพลาสติกกลับมารีไซเคิล ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว, บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว, ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด, แก้วพลาสติก, ถาด/กล่อง อาหาร และช้อน/ส้อม/มีด เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

      สำหรับผลการดำเนินโครงการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัด 89,805 ตัน ในจำนวนนี้สามารถลดจำนวนถุงพลาสติกหูหิ้ว 341 ล้านใบ และปีที่ผ่านมาจะต้องลดถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางลดลงร้อยละ 100 ด้วย 

      อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ ทำงาน เรียนหนังสือ และท่องเที่ยว สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการใช้ถุงพลาสติกได้ด้วยการหันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

เบอร์โทรศัพท์: (+66) 02 298 2000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,288,939