ถอดบทเรียนหลักการ EPR เดินหน้ากิจการไร้ข้อสะดุด แต่เติบโตอย่างยั่งยืน

     หลักการ Extended Producer Responsibility หรือ EPR เป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้า และบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่ถูกใช้แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการลดปัญหาขยะสะสมจึงนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ยุทธศาสตร์ BCG Model เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

     จากหลักการ EPR ที่มักมาคู่กับระบบเรียกคืน (Take-back system) ซากบรรจุภัณฑ์เพื่อบริหารขยะที่เกิดขึ้นหลังการบริโภคซึ่งที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งโครงการ “PackBack จัดเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” นำร่อง 3 พื้นที่ในจังหวัดชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข
เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง รวมถึงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป
เพื่อขับเคลื่อนแนวทางนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใต้แนวปฏิบัติ 4 ข้อ คือ 

        1) การศึกษากลไกการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR 

        2) การดำเนินการสร้างต้นแบบ และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 

        3) การสร้างการรับรู้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง และความเข้าใจต่อระบบ EPR 

        4) การขยายความร่วมมือไปยังภาคผู้ผลิตให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystems) ที่เหมาะสม สอดรับกับบริบทของประเทศไทยในการนำขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง

     นอกจากนี้ หลักการ EPR ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ผลิตในไทยในทุกอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ และกติกาการดูแล
ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่จะเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องศึกษาการทำธุรกิจภายใต้ระบบ Ecosystems ตั้งแต่การเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว การขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ที่ใช้แล้วสู่การเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่า รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลนำมาตรการภาษีมาใช้สร้างแรงจูงใจต่อการดำเนินการตามหลักการ EPR เพื่อให้ผลนี้เกิดเป็นรูปธรรมในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว

ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เบอร์โทรศัพท์: +66 -2345-1000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,284,394