ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมืองเนื่องจากปริมาณขยะหลายชนิดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นในทุก ๆ ปี และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเมือง และชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งมีรายงานเมื่อปี 2565 ขยะมูลฝอยทั่วประเทศมีปริมาณถึง 24.98 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นขยะนำไปใช้ประโยชน์ได้ 31.6% เป็นขยะกำจัดถูกต้อง 37.1% และเป็นขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 31.3% รัฐบาลจึงมีนโยบายในการแก้ปัญหาจัดการขยะโดยเริ่มจากการคัดแยกขยะมูลฝอยตามครัวเรือน ที่สามารถแบ่งขยะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ขยะอินทรีย์ หรือมูลฝอยย่อยสลาย คือขยะที่เน่าเสีย และย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้
2. ขยะรีไซเคิล หรือมูลฝอยที่ยังใช้ได้ คือบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้
3.ขยะอันตราย หรือมูลฝอยอันตราย คือมูลฝอยที่ปนเปื้อน หรือมีองค์ประกอบของวัตถุมีพิษ หรือทำให้เกิดอัตราย
4.ขยะทั่วไป หรือมูลฝอยทั่วไป คือขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย มีลักษณะที่ย่อยสลายยาก
และไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกภาคส่วนรวมทั้งชาวต่างชาติทั้งที่พำนักระยะยาว หรือกลุ่มมาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในประเทศไทย สามารถร่วมแก้ปัญหาขยะได้เพียงเริ่มต้นคัดแยกทิ้งขยะที่ทุกคนก่อขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมารีไซเคิลสิ่งของเครื่องใช้ให้เกิดการใช้ซ้ำได้ เพื่อทำให้ปริมาณขยะ
ลดลงได้มากที่สุด
ส่วนมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะ พบว่ามีหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ
บ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 สาระสำคัญเป็นการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยโดยให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้
นอกจากนี้ มีการกำหนดบทลงโทษ ผู้ใดดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยโดยมิได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้มีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ
เบอร์โทรศัพท์: +66 2298-2000