การควบคุมการระบายน้ำทิ้ง รองรับการทำน้ำจืดจากทะเล แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในไทย

            การทำน้ำจืดจากทะเล เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว

            และเพื่อลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และยกมาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล

            รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีการออกประกาศ กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากทะเล ควบคุมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดความขัดแย้งการใช้ทรัพยากรน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชน โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา

            สำหรับมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด คือ สถานประกอบการที่จัดหาน้ำ เพื่อทำน้ำให้บริสุทธิ์หรือจำหน่ายน้ำไปยังอาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรม เฉพาะที่ใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตและระบายน้ำทิ้งลงสู่ทะเล กำหนดมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการระบายน้ำทิ้งและบำบัด คือ 

1. กำหนดความเร็วของน้ำบริเวณที่สูบเพื่อผลิตจะต้องไม่เกิน 0.1 เมตรต่อวินาที และต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 9.5 มิลลิเมตร เข้าสู่ระบบ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเล

2. ค่ามาตรฐานควบคุมระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการเกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล คือ ความเป็นกรดและด่าง มีค่าตั้งแต่ 6 - 8.5 ของแข็งจมตัวไม่เกิน 2 มิลลิลิตรต่อลิตร ความขุ่นไม่เกิน 100 เอ็นทียู คลอรีนอิสระไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร และทีเคเอ็น ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อลิตร 

3.การระบายน้ำทิ้งด้วยท่อลอดลงสู่ทะเล กำหนดให้มีพื้นที่ผสมน้ำรอบจุดระบายน้ำทิ้งเป็นรัศมี 100 เมตร ในทุกทิศทาง ต้องมีคุณภาพน้ำบริเวณขอบของพื้นที่ผสมน้ำเป็นไปตามสภาพธรรมชาติ หรือเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดในบริเวณนั้น 

4.การระบายน้ำทิ้งไปยังระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางรวมกับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ

5.การบำบัดน้ำเสียด้วยการระเหยแห้งโดยไม่ระบายน้ำทิ้ง เช่น การใช้บ่อผึ่ง


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,285,647