การผลิตน้ำจืดจากทะเล ความหวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

           ทะเลถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งแต่ละปีน้ำจืดยังไหลลงสู่ทะเลจำนวนมหาศาล ซึ่งหมายความว่า เราต้องสูญเสียน้ำจืดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การผลิตน้ำจืดจากทะเลจึงถือเป็นความหวังของการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่เกาะที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว รวมไปถึงยังช่วยแก้ปัญหาในบางประเทศที่มีแหล่งน้ำจืดน้อย 

           ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส (Reverse Osmosis : RO) คือ เทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ที่ใช้แรงดันสูงดันน้ำทะเลผ่านเยื่อกรองที่มีรูขนาดเล็กเพื่อกรองแร่ธาตุ เกลือ และสารตกตะกอนต่าง ๆ ออกจากน้ำทะเล ทำให้น้ำจืดออกมา และพร้อมป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายน้ำประปา ส่วนเกลือที่ได้นั้นจะนำกลับไปทิ้งในทะเล

           เทคโนโลยี RO ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นเกาะ ไม่มีแหล่งน้ำจืดสำหรับอุปโภคและบริโภค เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมระหว่างน้ำจืดจากธรรมชาติ และน้ำจืดที่สกัดจากน้ำทะเล ขณะที่ต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับค่าไฟ และการวางระบบท่อ 

            ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตการผลิตน้ำจืดจากทะเลจะมีต้นทุนที่ถูกลง น้ำทะเลที่สูบขึ้นมาจากทะเล 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร เมื่อผ่านการกรองแล้วจะได้น้ำจืดประมาณ 400 ลิตร ส่วนอีก 600 ลิตร จะเป็นน้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า ซึ่งจะทิ้งลงทะเลไป และอาจมีผลกระทบต่อพืชและสัตว์ที่อยู่โดยรอบบริเวณโรงงาน แต่หากมีการสร้างโรงงานผลิตเกลือในบริเวณเดียวกับโรงงานน้ำจืด จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการผลิตเกลือจากการใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบ

           ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำจืดจากทะเล ได้แล้ว 4 แห่ง คือ เกาะสีชัง เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการใช้ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และในอนาคตอาจจะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และเกาะช้าง จังหวัดตราด เนื่องจากพบปัญหาน้ำจืดไม่เพียงพอในหน้าแล้ง และต้นทุนการขนส่งน้ำจืดมีอัตราที่สูงขึ้น


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,295,666