การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่มาตรฐานยูโร 6 สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่มาตรฐานยูโร 6 สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

     จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มลภาวะและฝุ่นพิษ ซึ่งควันไอเสียจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นผลให้เกิดมลพิษทางอากาศสะสมมายาวนาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วโลก

     ดังนั้น แนวทางที่สามารถช่วยบรรเทามลพิษจากยานยนต์ในระยะยาวนั้น คือ การผลิตและส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ลดการปล่อยมลพิษ อาทิ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : xEV) และรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5-6 ซึ่งมาตรฐานยูโร (Euro) ที่สูงขึ้นบ่งชี้ว่าปริมาณสารพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 จากท่อไอเสียจะลดลง ซึ่งประเทศไทยกำลังพัฒนา และขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ควบคู่ไปกับผลักดันยานยนต์ที่มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 (EURO 6) ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออก และการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก และเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเจตนารมณ์ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพการผลิตให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

     การผลักดันมาตรฐานการผลิต และการนำเข้ารถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 6 เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลายด้าน ซึ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มาตรฐานยูโร 6 มีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่สะอาด และลดมลพิษ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ลดการปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

     ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก หรือศูนย์กลางของภูมิภาค นโยบายเพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำในการผลิตรถยนต์ระดับโลกเข้ามาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจากนี้ไป อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 คน ต่อปี ภายในปี 2573


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,287,153