Digital ID framework การเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน

     Digital ID framework เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของภาครัฐในความพยายามผลักดันให้บริการ Digital ID ถึงมือประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้ โดยลดความซ้ำซ้อน ยุ่งยาก ในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่จะช่วยบอกว่า “เราเป็นใคร” เปรียบเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนบนโลกออนไลน์  

     ประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ID สามารถเข้าถึงและรับบริการดิจิทัลต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา  มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยไม่สามารถถูกปลอมแปลงได้ เป็นการยกระดับการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความคล่องตัว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

     Digital ID framework เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันในเชิงบูรณาการของหลายภาคส่วน ร่วมจัดทำเป็น “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567” เพื่อเป็นแนวทางของประเทศในการบูรณาการความร่วมมือและการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

     Digital ID framework ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 

  1. มี Digital ID ที่ครอบคลุมคนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ พร้อมต่อยอดใช้งานทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 
  2. ประชาชนสามารถใช้ Digital ID ที่เหมาะสม เข้าถึงบริการออนไลน์ได้ 
  3. กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติ ที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย 
  4. ใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคล เป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น 
  5. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล สนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วย Digital ID 
  6. ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน 
  7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ขับเคลื่อนนโยบาย Digital ID ในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลางที่หน่วยงานกำกับแต่ละ Sector สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ Sector ของตนได้อย่างเหมาะสม  
  8. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พัฒนามาตรฐานบริการ Digital ID ของรัฐ ให้มีมาตรฐานสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชนได้

     ปัจจุบันมีการใช้บริการ Digital ID framework นำร่องเกิดขึ้นแล้ว เช่น การยืนยันตัวตนด้วย Digital ID เพื่อยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร การแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเองของกรมการปกครอง หรือการเปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งผลักดันให้บริการเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่พร้อมใช้งานอย่างครอบคลุมทั้งการใช้งานของบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ

 


ที่มา : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

เลขที่ 33/4 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร. 0 2123 1234

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,285,421